TKP HEADLINE

วัดสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดกระบี่ หลวงพ่อผาด อติพโล เทศนาธรรมเพื่อรักษาธรรมชาติ











วัดสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดกระบี่

หลวงพ่อผาด อติพโล เทศนาธรรมเพื่อรักษาธรรมชาติ

หลวงพ่อผาด อติพโล ใช้การเทศนานำหลักธรรมคำสอนมาใช้ในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนในการดูแลรักษาป่า เปลี่ยนป่าช้าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นสวนป่าร่มรื่น จัดศาสนสถานให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาธรรมชาติ ขยายแนวคิดและพื้นที่สีเขียวไปยังวัด ชุมชน และโรงเรียนใกล้เคียง

หลวงพ่อผาด อติพโล เป็นคนบ้านนา จ.กระบี่ ชื่อเดิม นายผาด ทองผึ้ง ตอนเด็ก ย้ายตามแม่ไปอยู่ที่พังงา จนเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนท่าช้าง อ.เมือง จ.พังงา เมื่ออายุครบ 17 ปี ก็บวชเป็นสามเณรที่วัดราษฎร์อุปถัมภ์ แล้วบวชพระเมื่ออายุ 21 ปี ที่วัดมงคลนิมิตร จ.ภูเก็ต ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนเขารังเป็นเวลา 6 ปี จนเรียนจบนักธรรมชั้นเอก

หลังจากนั้น ลาสิกขากลับมาอยู่ที่บ้านนา แต่งงานและใช้ชีวิตเป็นชาวสวน นำแนวคิดการทำสวนแบบสวนปู่สวนย่า โดยแบ่งพื้นที่ปลูกปาล์ม ปลูกยาง และปลูกพืชตามแนวทฤษฎีใหม่ ในสวนปาล์มปลูกทุเรียนเป็นพืชเสริม สวนยางปลูกมังคุด และแปลงทฤษฎีใหม่ ก็ขุดแหล่งน้ำและปลูกพืชต่างๆ เช่น เหรียง มังคุด ทุเรียน เงาะ ลางสาด ลองกอง เป็นต้น จนได้รับรางวัลจากกระทรวงแรงงานเรื่องไร่นาสวนผสม

ในระหว่างที่ใช้ชีวิตแต่งงาน ท่านได้เป็นแกนนำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ทั้งประธานกลุ่มเกษตรบ้านนา รองประธานกลุ่มลูกเสือบ้านนา และประธานชมรมลูกเสือ อ.ปลายพระยา การได้ทำงานส่วนรวมทำให้รู้ว่าป่าในบ้านนาอยู่สภาพเสื่อมโทรม ท่านก็เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะรักษาป่าที่เหลือเอาไว้ให้ลูกหลาน

อายุ 53 ปี ท่านกลับมาบวชอีกครั้ง โดยตั้งปณิธานไว้ว่าอยากจะทำชีวิตให้มีค่า อยากทำประโยชน์ให้กับชุมชน บวชครั้งนี้ ได้จำพรรษาในบ้านเกิด จึงออกสำรวจป่า

"พบป่าช้าซึ่งเป็นป่าที่กำลังถูกบุกรุก แต่เดิมป่าผืนนี้ 61 ไร่ ถูกบุกรุกจนเหลือ 31 ไร่เศษ แต่ก่อนเป็นป่าใช้สำหรับเผาศพ แต่ตอนที่เข้าไปนั้น ไม่ได้ใช้เผาศพแล้ว มีแต่ชาวบ้านเข้ามาตัดไม้ ล่าสัตว์" หลวงพ่อผาด ตัดสินใจเข้ามาปฏิบัติธรรมและจำวัดในป่าช้าแห่งนี้ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะพลิกฟื้นป่าให้คืนความสมบูรณ์อีกครั้ง

"สวนป่า" ของหลวงพ่อผาด เริ่มต้นจากการสร้างที่พักเป็นเพิงเล็กๆ ซึ่งในเวลาต่อมา ขยายเป็นศาลาการเปรียญ เมื่อพอมีที่พัก ก็เริ่มเพาะพันธุ์กล้าไม้ เช่น ตะเคียนทอง หลุมพอ เพื่อนำไปปลูกป่าที่เสื่อมโทรม ในตอนแรกชาวบ้านค้านกันมาก อยากให้ท่านปลูกปาล์ม จะได้มีเงินมาพัฒนาวัด แต่ท่านบอกว่า ปลูกป่านั้นดีกว่า ยังได้อาหาร ได้แหล่งเรียนรู้ไว้ให้ลูกหลานของชาวบ้านเอง หลวงพ่อผาดเสาะหาพันธุ์ไม้ต่างๆ แล้วนำกลับมาเพาะที่เพิงพัก ภายหลังจึงมีญาติโยมมาช่วย บางรายก็นำมาถวาย อย่างเจ้าอาวาสวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี ก็กล้าไม้มะฮอกกานีมาฝาก เพราะรู้ว่าหลวงพ่อผาดรับปลูกทุกอย่าง ในสวนป่าจึงเต็มไปด้วยหวาย ตะเคียน ทัง หลุมพอ โหนด พะยอม สัก เม่า และไม้ไผ่ชนิดต่างๆ งานปลูกต้นไม้ที่เคยทำลำพัง ก็กลายเป็นกิจกรรมที่มีชาวบ้านมาช่วยในวันสำคัญต่างๆ และขยายไปสู่กิจกรรมระดับตำบล ซึ่งมีทั้งนักเรียน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และองค์กรปกครองท้องถิ่นมาร่วม

ในปี 2542 สวนป่าเล็กๆ กลายเป็น "สวนป่าเฉลิมพระเกียรติชุมชนบ้านนา" มีพิธีเปิดเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา หลังจากนั้น หลวงพ่อผาดก็ใช้วันพระ ซึ่งเป็นวันที่ชาวบ้านมาทำบุญ เป็นช่วงเวลาเทศนาธรรม แทรกแนวคิดการอนุรักษ์ไปด้วย ทั้งยังปรับศาสนสถานแห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้ เพื่อให้เด็กๆ เข้ามาศึกษาธรรมชาติ

เมื่อมีญาติโยมเข้ามาสนทนาธรรม หลวงพ่อผาดจะมอบพันธุ์ไม้ที่ท่านเพาะไว้กลับไปปลูกในสวน และมอบให้วัดต่างที่อยู่ใกล้เคียงเช่น วัดบ้านนา วัดบางโทง วัดเขาต่อ วัดทุ่งฉาง วัดบางบ้าน มีการประสานงานเพื่อจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าไม้ในวันสำคัญทางศาสนา โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนรอบสวนป่าฯ 5 แห่ง ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่

ส่วนคณะกรรมการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติบ้านนา ก็ยังคงมีหน้าที่ดูแลการปลูกป่าเสริม การเพาะพันธุ์ไม้ และมีแผนงานสร้างห้องสมุดประชาชน ทำกำแพงต้นไม้ล้อมสวนป่าเพื่อที่สัตว์ป่าจะไม่ไปรบกวนสวนของชาวบ้าน มีการจัดทำเขตอภัยทานในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และมีกฎระเบียบเรื่องการล่าสัตว์

ชีวิตที่อยู่เพื่อมุ่ง "ให้" แก่ส่วนรวม เป็นแก่นสารที่ค่าแก่การยกย่อง


 

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand