TKP HEADLINE

วัดเลาขวัญ

 วัดเลาขวัญ



    วัดเลาขวัญเป็นวัดประจำอำเภอเลาขวัญและเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างปี พ.ศ.2519 ของกรมศาสนากระทรวงศึกษาธิการ มีเนื้อที่ 45 ไร่ สภาพภายในวัดบริเวณรอบอุโบสถร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีต้นศรีมหาโพธิ์จากประเทศอินเดียและต้นโพธิ์ใหญ่เรียงรายอยู่หน้าบริเวณมณฑป ภายในมณฑปมีโลงแก้วบรรจุศพพระครูกาญจนคุณาธาร (เยี่ยม สญฺหวาโจ) อดีตเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอเลาขวัญซึ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2542 แต่สังขารไม่เน่าเปื่อย เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนอำเภอเลาขวัญ


    วัดนี้แต่เดิมตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเหล่ากัน ซึ่งมีบ้านอยู่ประมาณ ๗ หลังคาเรือน ราษฎรทั้งหมดเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยทำมาหากินอยู่ในถิ่นนี้ มีอาชีพทำนาทำไร่และเลี้ยงสัตว์ ต่อมาได้เพิ่มประชากรของตนมากขึ้นกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ และได้เรียกกันในสมัยนั้นว่า “หมู่บ้านเหล่ากัน” ซึ่งหมายถึงอยู่เป็นหมู่เป็นเหล่ากันและจากการบอกเล่าของคนรุ่นเก่า คำว่า “กัน” นั้น เป็นชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านอีกประการหนึ่งด้วย จึงเรียกขานหมู่บ้านนี้ว่าบ้าน “เหล่ากัน” 

    อีกประการหนึ่ง มีชาวบ้านได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านลาวขวัน” ก็มี เนื่องมาจากว่าในสมัยหนึ่ง ราษฎรซึ่งเป็นคนจากภาคอีสาน ได้ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่แผ่นดินซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะแห่งหนึ่งในถิ่นนี้ (ปัจจุบันเรียกว่า “เกาะบ้านเก่า” ) มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า “ขวัน” จึงเรียกกันตามลักษณะเชื้อชาติของราษฎร และหัวหน้าหมู่บ้านรวมกันว่า “บ้านเลาขวัน” 


    บรรดาชาวบ้านย่านนี้ได้พากันไปทำบุญบำเพ็ญกุศลที่วัดจิกด่าง ซึ่งได้สร้างมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี
โดยมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถเป็นหลักฐาน และได้รับการสันนิษฐาน
จากนักโบราณคดีของกรมศิลปกร แต่เป็นวัดที่ร้างมานานเพราะการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า
ครั้งถูกพม่ารุกร่านเผาผลาญ และทำลายศิลปวัตถุของบ้านเมืองและศาสนาเสียหายมาก จึงชำรุดทรุดโทรมและผุพังลงมาก มีพระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งได้เข้ามาปกครองดูแลวัดนี้ มีชื่อว่า “เพน” ชาวบ้านเรียก
ท่านกันว่า “หลวงปู่เพน” เห็นว่า วัดจิกด่างนี้ ได้ชำรุดทรุดโทรมและผุพังลงมาก ไม่สามารถ
ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้ดีขึ้นได้ จึงได้ตกลงพร้อมใจกันกับชาวบ้านไปหาที่จัดสร้างวัดขึ้นใหม่ห่างจากวัดเก่านี้ไป 300 เมตร และเรียกชื่อวัดสร้างใหม่นี้เช่นเดียวกับหมู่บ้าน หลวงปู่เพนท่านได้เป็นสมภารทำการปกครองดูแลวัดนี้เรื่อยมา
    จนกระทั่งต่อมาทางราชการเห็นว่าหมู่บ้านใหญ่มีประชากรมาก จึงได้มากำหนดตั้งหมู่บ้านให้เป็นระดับตำบล โดยให้จัดประชุมราษฎรเพื่อตกลงกันให้อยู่เขตการปกครองที่แน่นอนเพราะหมู่บ้านนี้อยู่ติดกับเขต 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ราษฎรที่มาประชุมกัน ได้พร้อมใจกันยกมือขอขึ้นอยู่กับเขตจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์การเป็นอยู่ และทางราชการมีความเห็นว่า ชื่อหมู่บ้านเหล่ากัน หรือลาวขวันนั้น เป็นภาษาท้องถิ่นไม่สละสลวยซึ่งอาจจะเรียกกันไปได้อีกหลายอย่าง จึงเปลี่ยนแปลงชื่อให้ใหม่และใช้ในทางราชการว่า “เลาขวัญ” ขึ้นกับเขตการปกครองของอำเภอพนมทวนสืบมา พร้อมทั้งให้เปลี่ยนชื่อวัดประจำหมู่บ้านนี้ตามคำเรียกขานเช่นเดียวกับหมู่บ้านว่า “วัดเลาขวัญ” และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนกระทั่งแยกเขตการปกครองเป็นอำเภอเลาขวัญ นับจากการสร้างวัดขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ มีระยะเวลากาลประมาณได้ 160 ปี มีพระภิกษุผู้เป็นสมภารทำการปกครองดูแลวัดสืบต่อกันมานับได้ 13 องค์ คือ 

1. หลวงปู่เพน
2. หลวงปู่วัน 
3. หลวงพ่อนาค 
4. หลวงปู่เทียน 
5. หลวงปู่แจ่ม 
6. พระอาจารย์คิด 
7. พระอาจารย์กุน 
8. พระอาจารย์ขาว 
9. พระอาจารย์เจ๊ก 
10.พระอาจารย์จุย 
11.พระอาจารย์ก๊ก
12.พระครูกาญจนคุณาธาร (เยี่ยม สญฺหวาโจ)
13.พระครูผาสุกกาญจนธรรม (พระใบฎีกาสมบูรณ์ ผาสุโก) องค์ปัจจุบัน 
ได้รับการแต่งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแล ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เรื่อยมาเป็นเวลาถึง 40 ปีแล้ว 



Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand