ขนมบันดุ๊ก
ขนมบันดุ๊ก หรือ มันดุก เป็นขนมชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตราดที่มีการสืบทอดมาช้านานจากรุ่นสู่ ปัจจุบันจะพบขนมบันดุ๊กได้หากมีการจัดงานประเพณีหรืองานบุญต่าง ๆ ตลอดจนใช้ประกอบในพิธีทางศาสนาของจังหวัด นักวิชาการท้องถิ่นเมืองตราด สันนิษฐานถึงชาติกำเนิดของ “ขนมบันดุ๊ก” เป็นสองทาง คือ อาจมาจากเมืองเขมร หรือ มาจากเมืองญวน ซึ่งหากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ของเมืองตราดจะพบว่าพลเมืองของทั้งสองประเทศต่างก็เคยถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองตราดทั้งคู่เช่นเดียวกัน คนทั่วไปจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ขนมเปียกปูนขาว” โดยเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้ากวน และทานกับน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วลิสงคั่วป่น สามารถทำได้ง่าย มีขั้นตอนดังนี้
ส่วนผสมแป้ง
แป้งข้าวเจ้าโม่สด ๒ ถ้วยตวง
แป้งมันสำปะหลัง ๑/๒ ถ้วยตวง
น้ำใบเตยคั้นเข้ม ๆ ๑ ถ้วยตวง
น้ำเปล่า ๔ ๑/๒ ถ้วยตวง
ถั่วลิสงคั่วหยาบ
- ผสมแป้งข้าวเจ้าโม่สดและแป้งมันสำปะหลังให้เข้ากัน ค่อย ๆ ใส่น้ำเปล่าแล้วคนให้เข้ากัน
- ใส่น้ำใบเตย คนให้เข้ากันอีกครั้ง เทใส่กระทะทอง ยกขึ้นตั้งไฟกวนจนข้นเหนียว หลังจากนั้นจึงเทใส่ถาด พักให้เย็นตัว
- ตัดขนมเป็นชิ้น ราดน้ำเชื่อม น้ำกะทิ พร้อมโรยถั่วลิสง
ส่วนผสมน้ำเชื่อม
น้ำตาลทรายแดง ๓ ถ้วยตวง
น้ำเปล่า ๒ ถ้วยตวง
- ผสมน้ำตาลทรายแดงและน้ำเปล่า ยกขึ้นตั้งไฟพอเดือด เบาไฟเคี่ยวพอข้นเหนียวแล้วยกลง
ส่วนผสมน้ำกะทิ
หัวกะทิ ๑ ถ้วยตวง
แป้งมันสำปะหลัง ๑/๒ ช้อนชา
เกลือป่นหยาบ ๑ ช้อนชา
- ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ยกขึ้นตั้งไฟ คนจนแป้งสุกมีลักษณะข้นเล็กน้อย จึงยกลง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าขนมบันดุ๊กนี้จะมีลักษณะคล้ายกับขนมเปียกปูน คนทั่วไปจึงมักเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ขนมเปียกปูนขาว” แต่มีวิธีการรับประทานแตกต่างกัน เนื่องจากขนมบันดุ๊ก จะเป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้ากวน และเวลาทานก็ตัดขนมเป็นชิ้น ราดด้วยน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลอ้อยและโรยด้วยถั่วลิสงคั่วป่น
ปัจจุบันชุมชนโภคไพร อำเภอเมือง จังหวัดตราด ได้มีความพยายามประสานงานหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสร้างกระบวนการส่งเสริมและรักษาขนมบันดุ๊ก โดยการผลักดันให้ขนมบันดุ๊กเข้าไปอยู่ในงานบุญประเพณีและงานอื่น ๆ ของจังหวัดตราด เพื่อเป็นการสืบทอดและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญนี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและได้สัมผัส รวมถึงการสนับสนุนให้บรรจุเข้าไปอยู่ในแผนงานการบริหารจัดการประจำปีของส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและเรียนรู้ในคุณค่าแห่งรากวัฒนธรรม ตลอดจน การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ขนมบันดุ๊ก ได้รับการประกาศเป็นรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดตราด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐
ผู้ให้ข้อมูล นางอำพา ขนรกุล
ผู้เรียบเรียง นางสาวพรกมล ขนรกุล
ภาพโดย นางสาวพรกมล ขนรกุล
Post a Comment