TKP HEADLINE

วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำพระทอง)

 วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำพระทอง)

วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ หรือชื่อเดิมคือ "วัดถ้ำพระทอง" ตั้งอยู่บนเขา "ภูผาทอง" ของเทือกเขาภูพานในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กมีเนื้อที่สำหรับทางวัดดูแลรักษาทั้งหมด 326 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา ทะเบียนวัด เลขที่ 196 หมู่ที่ 5 บ้านโคกตาดทอง ตำบลค้อเขียว อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ห่างจากอำเภอวาริชภูมิประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีหลักฐานการก่อตั้งวัด เมื่อ พ.ศ. 2440 วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ หรือ วัดถ้ำพระทอง เคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่มีอยู่หลายประการ คือ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่แกะสลักด้วยหินซึ่งติดอยู่ตามผนังถ้ำที่เคยมี อยู่หลายองค์ แต่ปัจจุบันนี้ยังเหลืออยู่เพียงองค์เดียว นอกนั้นถูกทำลายไปหมดแล้ว ภาพเขียนสีโบราณรูปต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ตามผนังถ้ำก็ถูกทำลายไปแล้วเหมือนกัน ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างด้วยทองคำ ทองสำริดและเงิน ซึ่งเป็นพระเก่าแก่ที่มีอยู่ในถ้ำจำนวนมาก จนเป็นเหตุแห่งการได้มาของชื่อวัดว่า "วัดถ้ำพระทอง" และเป็นที่มาของประเพณีสรงน้ำพระ ที่คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่จะลงมือทำไร่ทำนาของทุก ๆ ปี เมื่อถึงวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาคือวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) ชาวบ้านในเขตอำเภอวาริชภูมิและอำเภอใกล้เคียงต่างก็นำดอกไม้ ธูป เทียน น้ำอบน้ำหอม ขึ้นมาเพื่อสักการะบูชา ประกอบพิธี ขอฟ้าขอฝนตามจารีตประเพณี จากนั้นก็จะพากันสรงน้ำพระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปทองอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อถือ เพื่อจะทำให้ฝน ฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ไร่นาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่วนทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีพระพุทธรูปเก่าแก่ล้ำค่าเหล่านั้นแล้วแต่ทางคณะสงฆ์อำเภอวาริชภูมิ ตลอดถึงพี่น้องพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอวาริชภูมิและอำเภอใกล้เคียงก็ยังคงรักษาสืบทอดประเพณีอันดีงามในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี จวบจนถึงปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2450 ขุนพระบริบาลศุภกิจได้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอวาริชภูมิ เมื่อออกตรวจราชการท้องที่ได้ทราบจากชาวบ้านแถบนี้ว่าวัดถ้ำพระทองเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์ มีแต่พระพุทธรูปที่สร้างด้วยเงิน ทอง และทองสำริด ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งล้ำค่า ท่านจึงให้ชาวบ้านพาไปที่วัด เพื่ออัญเชิญพุทธรูปเหล่านั้นไปเก็บไว้ที่บ้านของท่าน และอีกส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่วัดสระแก้ววารีราม อำเภอวาริชภูมิ เพราะเหตุนั้น ปัจจุบันนี้ที่วัดถ้ำพระทองจึงเหลือเพียงพระพุทธรูปหินแกะสลัก 1 องค์ ที่ติดอยู่ผนังถ้ำทางด้านหลังพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน)และหลักศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญได้มาอ่านและแเปลพอได้ใจความว่า"พุทธศตวรรษที่ 16 สถานที่นี้เคยเป็นที่ประชุมพระสงฆ์ 31 คณะ ศรีวิริยะบัณฑิตเป็นหัวหน้า วันเสาร์ เดือน 5 ปีมะโรง


เมื่อ พ.ศ.2512 ท่านพระครูคัมภีรปัญญาคม (พระมหาสุวรรณ ไชยพันธ์) ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอวาริชภูมิ เพื่อปฏิบัติธรรมกรรมฐานในบั้นปลายของชีวิต ซึ่งเป็นการปฏิบัติกิจในทางพระพุทธศาสนา ให้บริบูรณ์ตามหลักพระสัทธรรม 3 ประการ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ โดยในปี พ.ศ.2516 ท่านได้ขึ้นมาอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำพระทองเป็นปีแรก และได้ทำการฟื้นฟูบูรณะ พัฒนาวัดอารามให้เจริญรุ่งเรือง กลับคืนมาอีกวาระหนึ่ง ในปี พ.ศ.2517 ท่านได้นำพาชาวบ้านสร้างอ่างเก็บน้ำ ขนาดความกว้าง 20 เมตร ความยาว 40 เมตร เพื่อเก็บกักน้ำไว้อุปโภคบริโภค และบรรเทาความเดือดร้อน ในฤดูแล้ง และในปี พ.ศ. 2518 ท่านพระครูคัมภีร ปัญญาคม ได้นำพาชาวบ้านญาติโยมบริจาคทุนทรัพย์ สร้างพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนองค์ใหญ่ขนาดความยาว 8 เมตร เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแทนพระทอง พระเงิน ที่สูญหายไป โดยมีท่านพระอาจารย์นเรนทร์ อริยวํโส เป็นผู้ออกแบบการก่อสร้าง เมื่อสร้าง พระนอนเสร็จแล้ว ได้มีการฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 7 วัน 7 คืน และได้มีพิธีบรรจุพระบรม สารีริกธาตุในวันอาทิตย์ที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2519 เวลา 10.00 น. โดยท่านพระอาจารย์วัน อุตุดโม วัดอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) อำเภอส่องดาว เป็นผู้อัญเชิญมาบรรจุไว้ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2521 ท่านพระครูคัมภีรปัญญาคมได้ถึงแก่มรณภาพลง
จากนั้นทางวัดถ้ำพระทอง จึงได้กลายเป็นวัดร้างอีกวาระหนึ่ง แต่ด้วยความห่วงใยของท่านพระครูรัตนสรารักษ์ เจ้าคณะอำเภอวาริชภูมิ ท่านได้จัดให้พระสังฆาธิการ เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขตอำเภอวาริชภูมิ สับเปลี่ยนกันขึ้นมาอยู่ เพื่อดูแลรักษาเอาไว้ แต่ก็ไม่มีพระภิกษุรูปใดจะอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2522 ท่านพระอาจารย์ทองจันทร์ พุทฺธญาโณ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้จารึกธุดงค์กรรมฐาน เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติจากสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ ในเขตจังหวัดสกลนครและจังหวัดอุดรธานี จากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่ารัตนโสภณ บ้านปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ เป็นเวลา 2 พรรษา เมื่อท่านพระครูรัตนสรารักษ์ เจ้าคณะอำเภอวาริชภูมิทราบข่าว จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ ทองจันทร์ มาอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำพระทอง เมื่อวันที่ 17 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 หลังจากท่านพระอาจารย์ทองจันทร์ ได้ขึ้นมาอยู่ประจำที่วัดถ้ำพระทองแห่งนี้ ท่านก็ได้พัฒนาวัดวาอาราม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติที่เคร่งครัดด้วยข้อวัตร และปฏิปทาที่งดงาม จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพระภิกษุสามเณร ตลอดถึงฆราวาส ญาติโยมต่างก็พากันมาอยู่ศึกษาปฏิบัติและให้การสนับสนุนเป็นอันมาก จึงเกิดมีการก่อสร้างเสนาสนะ กุฏิวิหาร เพื่อรองรับผู้มาเยือน และอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้ปฏิบัติธรรม จึงนับว่าวัดถ้ำพระทองมีความเจริญรุ่งเรือง สะอาด สงบ ร่มรื่น น้ำไหลไฟสว่าง หนทางดี แม้แต่องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการท่านพระอาจารย์ทองจันทร์ พุทธญาโณ และทรงทอดพระเนตรพระพุทธรูป หลักศิลาจารึก ตลอดจนทัศนียภาพภายในบริเวณวัดถึง 2 ครั้ง คือ วันที่ 29 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2536 และวันที่ 21 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2537 เมื่อท่านพระอาจารย์ ทองจันทร์ ขึ้นมายู่ ท่านเห็นว่าพระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปทอง ที่มีค่าได้หายไปหมดสิ้นแล้ว คงเหลือแต่พระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมีลักษณะที่เอิบอิ่มไปด้วยพระเมตตา เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้ที่ได้มาสักการบูชา ท่านจึงเปลี่ยนชื่อจาก "วัดถ้ำพระทอง" มาเป็น "วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์" ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ กระทั่งวันที่ 10 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2542 ท่านพระอาจารย์ทองจันทร์ พุทธญาโณ พร้อมคณะได้ย้ายออกจากวัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ไปอยู่ที่อื่น ทางคณะสงฆ์อำเภอวาริชภูมิได้จัดให้ พระสังฆาธิการ ตลอดถึงพระภิกษุ - สามเณร ขึ้นมาอยู่เพื่อดูแลรักษาวัดเอาไว้ จนกระทั่งวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2544 ท่านพระครูพิศาลธรรมภาณี (หลวงพ่อมหาสมดี สุวณุโณ) ประธานศูนย์เผยแพร่ ชีวิตอันประเสริฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าอาวาสวัดสันติวนาราม (พุทธอุทยานป่าดงไร่) ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้นำข้าพเจ้า (พระมหาศักดิ์ชาย อมโร) ขึ้นมาฝากไว้เพื่อให้อยู่ที่วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์แห่งนั้น จนต่อมาได้รับความไว้วางใจจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูรัตนสรารักษ์ เจ้าคณะอำเภอวาริชภูมิ ตลอดถึงคณะสงฆ์ มอบหมายให้อยู่ดูแลรักษาและพัฒนาวัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ มาจนถึงทุกวันนี้






Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand