“ผ้าฝ้ายหมักโคลน” จากดินสู่ผืนผ้า ภูมิปัญญาชาวบ้าน “บ้านโนนศิลา”
จากเส้นฝ้าย ไหมย้อย พร้อมกี่หูก นำมาผูก เส้นพุ่งยืน เป็นผืนผ้า
ก่อกำเนิดผ้าหมักโคลนโนนศิลา สวยงามตาเอกลักษณ์ไทยน่าชื่นชม
ประเภทของภูมิปัญญา
การประกอบอาชีพ
ประวัติข้อมูลส่วนตัวของภูมิปัญญา
นางอ่อนศรี จันทร์ทา
- เกิดวันที่ 12 เมษายน 2503
- อยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ 1 ต.โนนศิลา อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ
ประวัติความเป็นมาของภูมิปัญญา
การทอผ้านับเป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานที่มีมาแต่อดีต ที่ นอกจากประโยชน์ใช้สอยด้านเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกในครอบครัวแล้ว ผ้าทอยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของชาวอีสาน และยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและจำเป็นสำหรับ ครัวเรือนในชนบท
การทอผ้าฝ้ายของบ้านโนนศิลา มีมาตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาในการถักทอเครื่องนุ่งห่ม เพื่อใช้ในครัวเรือน ใช้ช่วงเวลาว่างหลัง ฤดูทำนาทำสวน รวมตัวกันตั้งกลุ่มทอผ้าหมักโคลนขึ้นมา โดยทุกขั้นตอนการทอจะทำด้วยมือทั้งหมด และจุดเริ่มต้นของภูมิปัญญานี้ เกิดขึ้นจากการสังเกตของชาวบ้านว่า เสื้อผ้าที่เปื้อนดินโคลนเมื่อซักแล้ว ได้สังเกตเห็นว่าเสื้อผ้าในส่วนที่เปื้อนดินโคลนนั้น จะซักออกค่อนข้างยาก และผ้ามีความนิ่มมากขึ้น กรรมวิธีการทำผ้าหมักโคลน จึงถือกำเนิดขึ้น และกลายมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านจนถึงปัจจุบัน
วิธีการสืบทอดทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
การสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายหมักโคลนบ้านโนนศิลา เกิดจาการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากคน รุ่นหนึ่ง สู่คนรุ่นหลัง โดยผ่านการบอกเล่าและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
กระบวนการผลิต“ผ้าฝ้ายหมักโคลนบ้านโนนศิลา”
ขั้นตอนการทำผ้าหมักโคลนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่จะมีหลายขั้นตอนเท่านั้น ต้องใช้ความอดทนในการทำ ดังนี้
การการย้อมสี
เริ่มด้วยการย้อมเส้นฝ้ายสีขาวให้เป็นสีตาม
ต้องการ ซึ่งการย้อมสีผ้า ของบ้านโนนศิลาจะใช้สีที่มาจากเปลือกไม้ตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ซึ่งจะให้สีที่แตกต่างกันไปตามสีเปลือกไม้ชนิดนั้นๆเปลือกไม้ที่นำมาใช้ ได้แก่
- เปลือกประดู่ เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีแดงอมน้ำตาล เมื่อหมักโคลนจะได้สีน้ำตาล
- เปลือกนนทรี เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีน้ำตาลแดง เมื่อหมักโคลนจะได้สีเทา
- เปลือกมะม่วง เมื่อน้ำมาย้อม จะได้เส้นใยสีเหลือง เมื่อหมักโคลนจะได้สีเขียว
- ผลมะเกลือ เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีเทา เมื่อหมักหมักโคลน จะได้สีเทาที่เข้มขึ้น
- นำเส้นฝ้ายมาย้อมเปลือกไม้ แช่ทิ้งไว้ประมาณ ๑ คืน เพื่อให้ได้สีสวย ติดทน และสวยงาม
การหมักโคลน
นำโคลนมากรองด้วยตะแกรงเพื่อให้ได้เนื้อโคลนล้วนๆ นำไปผสมกับน้ำ และเกลือ ตามความเหมาะสมคนให้เข้ากัน นำเส้นฝ้ายที่ได้จากการย้อมรองพื้นจากเปลือกไม้ต่างๆ ลงไปแช่ในโคลนที่เตรียมไว้ โดยใช้เวลาในการหมัก ประมาณ ๓-๖ ชั่วโมง ซึ่งสีของเส้นใยจะอ่อนหรือเข้มขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการหมัก เมื่อหมักได้ตามเวลาที่ต้องการแล้ว ก็จะนำผ้าขึ้นมาซักกับน้ำ และนำไปผึ่งให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วนำมาซักน้ำอีกจนกว่าน้ำที่ซักจะใส เพื่อเป็นการยืนยันว่าสีไม่ตก และนำไปผึ่งให้แห้งอีกครั้งเสร็จสิ้นกระบวนการหมักโคลน ก็จะได้ผ้าฝ้ายที่สีสวย และนุ่มนิ่มน่าสัมผัส สามารถนำไปทอเป็นผืนผ้าตามลายที่ต้องการได้เลย
การทอผ้า
การทอผ้า ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญเป็นอย่างมาก เพราะการทำแต่ละขั้นตอนจะมีความแตกต่างกัน ความชำนาญจะมีผลกับกับความสวยงามของผ้าผืนนั้นๆ จึงทำให้ผ้าทอแต่ละผืนมีเอกลักษณ์ความสวยงามแตกต่างกันไป
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
1. มีลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง “ ลายศิลาครองรัก”
2. เนื้อผ้ามีลายสดใส สวยงาม สวมใส่สบาย และระบายความร้อนได้ดี
3. การทอผ้าจะทอด้วยมือ
4. สีไม่ตก เนื้อผ้าแน่น คงทน สวยงาม ราคาถูก
แหล่งจำหน่าย
1. ณ สถานที่ตั้งบ้านนางอ่อนศรี จันทร์ทา บ้านโนนศิลา หมู่ 1 ตำบลโนนศิลา อำเภอ ปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
2. วางจำหน่ายตามงานแสดงสินค้า OTOP ของจังหวัดบึงกาฬ และหน่วยงานต่างๆ
3. การรับสั่งทำตามออเดอร์ (โทร.083-3485408)
สถานที่ตั้ง พิกัดของผู้เป็นภูมิปัญญา
บ้านนางอ่อนศรี จันทร์ทา ตั้งอยู่ที่บ้านโนนศิลา หมู่ 1 ตำบลโนนศิลา อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาววรุณี ท้าวดี ผู้เขียน
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาววรุณี ท้าวดี ผู้ถ่ายภาพ
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://shorturl.asia/6tSqD
Post a Comment