TKP HEADLINE

"สวน-สาม-แสน” จากเศรษฐกิจพอเพียง...สู่การท่องเที่ยวชีววิถี...ลำพูน

 

ความเป็นมาของการเป็นภูมิปัญญาด้านเศรษฐกิจพอเพียง ณ "สวนสามแสน"


บ้านกลาง หมู่ที่ 10 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เดิมทีได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่นของจังหวัดลำพูน และมีแนวคิดในการสานต่อเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน โดยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม จากนั้น ผู้ใหญ่สมคิด ธีระสิงห์ จึงได้ร่วมปรึกษาหารือกับชาวบ้านในการทำให้เงินจากกองทุนมีความยั่งยืน ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ประกอบกับในพื้นที่บ้านกลางมีโรงเรียนร้างแห่งหนึ่งที่ไม่ถูกใช้งานเป็นเวลานาน มีพื้นที่กว้างขวาง จึงได้ลงความเห็นว่าจะขอใช้พื้นที่ในโรงเรียนร้างแห่งนั้น มาพัฒนาเป็นแปลงปลูกผักของชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านจะได้รับการจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ไว้กินเองและขายสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยยึด แนวคิด 3 แสน ได้แก่ แสนพอดี แสนคุ้ม แสนภูมิใจ จึงกลายมาเป็น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง "สวน สาม แสน" โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจเรื่อยมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง "สวน สาม แสน" ปีละพันกว่าคน เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชน จังหวัด และเป็นต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่น และประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย 

โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง...สู่การท่องเที่ยวชีววิถี
สืบเนื่องจากหมู่บ้านได้รับคัดเลือกจากอำเภอลี้ ให้เป็นหมู่บ้านนำร่อง หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินด้วยวิสัยทัศน์ของหมู่บ้าน เพื่อสนองพระเมตตาพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ในชุมชน โดยเรื่องที่ใกล้ตัวของราษฎรในหมู่บ้าน คือ เศรษฐกิจพอเพียง ผู้นำชุมชนและราษฎรในหมู่บ้านมีมติสร้างฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2559 จากเงินงบประมาณกองทุนแม่ของแผ่นดิน จำนวน 30,000 บาท จากความร่วมมือของราษฎรและผู้นำชุมชน ในการประสานงาน เพื่อขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจนสามารถสร้างฐานการเรียนรู้ ในเรื่อง การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต การทำบัญชีครัวเรือน การลดรายจ่ายสร้างรายได้ จนถึงปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับคนในหมู่บ้านเพื่อฝึกปฏิบัติ เป็นฐานการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานราชการ อาทิ เกษตรอำเภอลี้ พัฒนาชุมชนอำเภอลี้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอลี้ สำนักงานส่งเสริมการเกษตรที่สูงจังหวัดลำพูน (ผาลาด) โรงเรียนปวงคำประชาอุทิศ เทศบาลตำบลลี้ และชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ

จากผลการร่วมมือของผู้นำชุมชนและราษฎรในหมู่บ้าน ที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนาศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน หมู่บ้านละ 200,000 บาท และมีการพัฒนาให้เกิดตลาดนัดสีเขียว ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนสามแสน เพื่อเป็นจุดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ ของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จากหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน และรองรับการตลาดของชุมชนจนถึงปัจจุบัน และมีการขุดลอกแหล่งน้ำตื้นเขิน เพื่อการกักเก็บน้ำใช้ทางการเกษตรในหน้าแล้ง

ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ ของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ "สวน สาม แสน"
จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ "สวน สาม แสน" คือ การใช้ที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยการนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่นโรงเรียนร้าง มาใช้ประโยชน์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละครัวเรือนมีแปลงผักที่ตนเองรับผิดชอบ เลือกผัก ผลไม้ที่จะปลูกได้เอง ใส่ปุ๋ย ดูแลเองด้วยวิธีธรรมชาติ มีผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษไว้รับประทาน มีกาดมั่วครัวแลง เป็นแหล่งขายผลผลิตทางการเกษตรของสวนสามแสนให้ชาวบ้านได้มาเลือกซื้อ และเป็นจุดสาธิต ศึกษาดูงานให้แก่หน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ เข้ามาศึกษาดูงาน




ประโยชน์ของการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินงาน "สวน สาม แสน"
1. การนำพื้นที่รกร้างในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ มาขออนุญาตใช้งานให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน และสังคมให้มากที่สุด
2. ชาวบ้านมีที่ดินทำกินของตนเอง รู้หน้าที่ รับผิดชอบ และดูแลแปลงผักของตนเอง
3. ชาวบ้านมีผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษไว้รับประทาน และสามารถแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นได้
4. ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนมีรายได้เกิดขึ้นจากการทำแปลงผัก ผลไม้ ในสวนสามแสน
5. สวน สาม แสน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่สามารถเข้ามาเรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเอง เป็นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบในการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่สามารถทำได้จริง

ข้อมูลการติดต่อ นายสมคิด ธีระสิงห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านกลาง ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน 
ที่ทำการ สวนสามแสน หมู่ที่ 10 ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หมายเลขโทรศัพท์ : 093-2129090

ข้อมูลเนื้อหา : นายสมคิด ธีระสิงห์
เรียบเรียงเนื้อหา : นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และ นางสาวปัทมาภรณ์ จันต๊ะ
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนางสาวปัทมาภรณ์ จันต๊ะ
ข้อมูล TKP อ้างอิง: https://2510lamphun.blogspot.com/2021/09/blog-post_1.html?m=0





Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand