บ้านขุนสาใน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ท่ามกลางหุบเขาและธรรมชาติ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีประชากรเป็นชาติพันธุ์ม้งราว 200 กว่าหลังคาเรือน ด้วยอากาศที่เย็นแทบจะทั้งปี ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีอาชีพกระเกษตรกรรม โดยพืชผักส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักเมืองหนาว เช่น ต้นหอมญี่ปุ่น ลูกพลับ ผักกาดขาว สตอว์เบอร์รี่ กะหล่ำปลี มะเขือเทศ พริกหวาน ฯลฯ
ในช่วงเวลาว่างหลังเสร็จงานเกษตรกรรมเพาะปลูกในไร่นา ชาวบ้านผู้ชายมักจะตีเหล็กและทำเครื่องเงิน โดยจะเห็นได้จากเสื้อผ้าและเครื่องประดับของเผ่าม้ง จะมีเครื่องประดับที่ทำจากเงิน ประดับประดาทั้งชายและหญิง ขณะที่ฝ่ายผู้หญิงจะเย็บปักเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ดังที่มีคํากล่าวถึงวิถีชีวิตชาวม้งตั้งแต่โบราณกาลว่า “ผู้หญิงปักผ้า ผู้ชายตีมีด” เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชนเผ่าม้งจึงนิยมสร้างลวดลายประดับด้วยลายปักที่ใช้เส้นด้ายสีสันสดใสสีต่าง ๆ อาทิเช่น ส้ม ชมพูบานเย็น ฟ้า เหลือง เขียว เป็นต้น แต่ชาวม้งจะไม่นิยมใช้สีแดงประดับบนเสื้อผ้า เพราะมีความเชื่อว่า สีแดงเป็นสีรุนแรง เป็นสีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุไม่เป็นมงคล จะใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น
ในช่วงเวลาว่างหลังเสร็จงานเกษตรกรรมเพาะปลูกในไร่นา ชาวบ้านผู้ชายมักจะตีเหล็กและทำเครื่องเงิน โดยจะเห็นได้จากเสื้อผ้าและเครื่องประดับของเผ่าม้ง จะมีเครื่องประดับที่ทำจากเงิน ประดับประดาทั้งชายและหญิง ขณะที่ฝ่ายผู้หญิงจะเย็บปักเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ดังที่มีคํากล่าวถึงวิถีชีวิตชาวม้งตั้งแต่โบราณกาลว่า “ผู้หญิงปักผ้า ผู้ชายตีมีด” เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชนเผ่าม้งจึงนิยมสร้างลวดลายประดับด้วยลายปักที่ใช้เส้นด้ายสีสันสดใสสีต่าง ๆ อาทิเช่น ส้ม ชมพูบานเย็น ฟ้า เหลือง เขียว เป็นต้น แต่ชาวม้งจะไม่นิยมใช้สีแดงประดับบนเสื้อผ้า เพราะมีความเชื่อว่า สีแดงเป็นสีรุนแรง เป็นสีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุไม่เป็นมงคล จะใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น
ปัจจุบัน แม้ด้วยยุคสมัย กระแสทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้วิถีชีวิตของชนเผ่าม้งในบ้านขุนสาในมีเปลี่ยนแปลงไปมาก บางกลุ่มมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกับคนสังคมเมืองมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นงานปักผ้าก็ยังคงมีการสืบทอดต่อกันมาในกลุ่มชนเผ่าม้ง และลวดลายบางลวดลายที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าม้ง ก็ยังมีปรากฏอยู่ในผืนผ้าปักม้งร่วมอยู่ด้วยแทบจะทุกผืน ผ้าปักที่เคยทำกันเพียงเพื่อเป็นแค่เครื่องแต่งกายในครอบครัวหรือในชนเผ่า ก็กลายเป็นสินค้าที่ถูกนํามาพัฒนาเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีความหลากหลาย โดยมีการจัดจำหน่ายในรูปแบบของสินค้าคุณภาพ ในนามของสินค้า OTOP จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้นยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ในศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ (OOCC) ของ กศน.อำเภอปาย จนเป็นที่นิยมทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
แคตตาล็อคออนไลน์สินค้าจากผู้ประกอบการบ้านขุนสาใน เพจ OOCC กศน.อำเภอปาย
หญิงชาวเผ่าม้งบ้านขุนสาใน ต่างมีทักษะความเชี่ยวชาญในด้านการปักผ้า ไม่แพ้หญิงชาวม้งอื่น ศิลปะการปักผ้าเป็นอย่างหนึ่งที่แสดงถึงทักษะฝีมือของผู้ปักคือ การปักแบบเย็บปะ หรือที่เรียกเทคนิคการปักแบบนี้ว่า "เจี๋ย" ซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างยากกว่าเทคนิคอื่น ๆ ของชาวม้ง
เจี๋ย หมายถึง เทคนิคการตัดผ้าเป็นลวดลายที่กำหนด แล้วนํามาเย็บติดซ้อนกับผ้าพื้นอีกชั้นหนึ่ง ความยากของเทคนิคนี้ อยู่ที่ความละเอียด ลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ของเทคนิคเจี๋ย ที่นิยมของชาวม้ง คือ การปักลายก๊ากื้อ หรือลายก้นหอย ผู้ปักต้องใช้ฝีมือ ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญ ใช้ความละเอียดและความอดทนมากเป็นพิเศษ จึงจะปักลวดลายนี้ได้สำเร็จ จะได้ผ้าปักที่มีความประณีตและออกมาสวยงาม
ลายก๊ากื้อ เป็นภาษาชนเผ่าม้ง ความหมายในภาษาไทยหมายถึง ก้นหอย เป็นลายหลักที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและมีความชัดเจนที่สุดของชาวม้งในแทบทุกกลุ่ม เป็นลายโบราณดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของม้งหลายชั่วอายุคน ลายก๊ากื้อหรือลายก้นหอย พบได้ทั้งในงานปักแบบเจี๋ยหรือเย็บปะ งานปักแบบคลอสติซ และงานเขียนเทียนของชาวม้งลาย ลายก๊ากื้อหรือลายก้นหอยนั้น อาจมีตามคติความเชื่อของชาวม้งแฝงอยู่ ซึ่งเชื่อว่ามีที่มาจากหอยสังข์ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา ลักษณะการวนของก้นหอยเปรียบเสมือนการโคจรของพระอาทิตย์พระจันทร์และดวงดาว เอกลักษณ์ลายก้นหอยนี้จึงเสมือนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบนผืนผ้าปักที่สะทอนชนเผ่าม้ง และยังคงมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน สามารถพบลายก๊ากื้อหรือลายก้นหอยนี้บนผืนผ้าของชาวม้งโดยทั่วไป
ข้อมูลโดย นางสาวจีราพา วงค์ยั่งพิทักษ์ ประธานกลุ่มผ้าปักม้งบ้านขุนสาใน
เรียบเรียงและภาพถ่ายโดย นางสาวปาลิตา ประเสริฐสังข์ ครู ศรช. กศน.ตำบลโป่งสา กศน.อำเภอปาย
สำนักงานแม่ฮ่องสอน
ดาวน์โหลดเอกสารบทความ : ผ้าปักม้ง ลวดลายอารยะ…สู่ความวิจิตรศิลป์
Post a Comment