ปราสาทหินบ้านพะโค ปราสาทหินบ้านพะโค หรือ ปราสาทปะโค ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา หากเดินทางจากตัวจังหวัด ตามถนนหลวงหมายเลข 224 ประมาณ 30 กิโลเมตร จะมาถึงตัวอำเภอโชคชัย เดินทางต่อจากตัวเมืองโชคชัยไปทางอำเภอครบุรี ด้วยทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2071 อีกประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร จะพบปราสาทองค์เล็ก ๆ ทางด้านขวามือ
ปราสาทพะโค มีการบูรณะในปี 2535 คำว่า "พะโค" มาจากคำว่า "ปะโค" ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ในนิทานภาคอีสาน เรื่องหอนางอุษาหรืออุสา-บารส หรืออาจจะมาจากคำเขมรว่า "เปรียะโค" แปลว่า "พระโค (วัว)" สภาพก่อนการบูรณะนั้น ปราสาทมีสภาพเป็นโคกเนินดินทับถมขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกรุงรัง มีกองหิน อิฐและเศษรูปสลักกระจัดกระจายอยู่บนเนิน มีร่องรอยการขุดหาของเก่า
ลักษณะของปราสาทเป็นปรางค์เดี่ยว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปรางค์น้อยที่หลายคนเรียกว่าบรรณาลัยจำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าแนวเหนือและใต้ (ห้องสมุดหรือห้องพิธีพราหมณ์) ปรางค์ประธานและปรางค์น้อยทั้งสองอยู่ในสภาพพังทลาย ปรางค์น้อยด้านทิศใต้ถูกรื้อหายไปทั้งฐานราก ชิ้นส่วนประดับปราสาทที่เรียกว่า "เครื่องบน" หรือ "กลีบขนุนรูปปราสาทจำลอง" จำนวนมากแตกหัก สภาพไม่สมบูรณ์ กลีบขนุนรูป "นักบวชและรูปฤๅษี" มีร่องรอยถูกทุบทำลาย แตกเป็นชิ้น ๆ ปราสาทพะโค อาจถูกทำลายโดยผู้คนชุมชนใหม่ในยุคพุทธศตวรรษที่ 17 ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ทำลายโดยตั้งใจเพื่อรื้อตัวปราสาทให้ถล่มลงเพราะเป็นปราสาทที่ขัดแย้งความเชื่อในคติบูชาเทพเจ้าของตน หรือ เข้ามาพบปราสาทร้างและต้องการนำหินไปใช้เพื่อสร้างปราสาท "สรุก" ศูนย์กลางท้องถิ่นของตนใหม่ จึงทำการรื้อถอนปราสาทด้วยวิธีการการล้อมเชือกโดยรอบแล้วใช้ช้างลากหรือแรงงานคนชักคะเย่อ จนปราสาทถล่มล้มลงมาทั้งหลัง หลังจากลำเลียงหินทรายก้อนที่เป็นโครงสร้างปราสาทไปแล้ว ก็จะทิ้งหินทรายที่มีรูปแกะสลักเดิมไว้ เพราะไม่ต้องการนำไปใช้ จึงยังพบทั้งเสากรอบประตูสลักลวดลายสวยงาม กรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง หน้าบันและยอดปราสาทครบทั้งสามหลังทิ้งไว้ รวมกันกับกองปราสาทจำลอง หินสลักจำนวนมากอยู่ในสภาพแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมีร่องรอยหลักฐานของการกระทบกระแทกหินกันอย่างรุนแรงปรากฏอยู่มากมาย
หินแตกหักจำนวนมากของปราสาทพะโค สวยงามเพราะมีลวดลายสลักติดอยู่ และได้มีการขุดพบแผ่นทองคำศิลาฤกษ์ บริเวณฐานศิลาแลงของปราสาทประธานทางฝั่งทิศเหนือ แผ่นทองคำเป็นรูปบัวแปดกลีบวางในช่องหินเล็ก ๆ หลายช่อง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย หน้าบันของปราสาทพะโคมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ค่อนข้างแปลกกว่าปราสาทหินเขมรในประเทศไทยองค์อื่น ๆ หน้าบันสลักเข้าไปในตัวเรือนปราสาท โค้งลงมาเข้าหาทับหลังและกรอบประตูแทนที่จะแยกออกมาเป็นแผ่นหน้าบันต่างหาก ซึ่งลักษณะนี้คล้ายกับที่ปรางค์น้อย ในปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองแขกและปราสาทบ้านพลวง ซึ่งล้วนอยู่ในสมัยต้นศิลปะแบบบาปวน แต่ที่ปราสาทพะโคนี้จะดูเก่าและแปลกตา หากปราสาทสมบูรณ์แบบ จะเป็นปราสาทหินที่งดงามเทียบได้กับปราสาทบันทายศรีในเมืองเสียมเรียบของกัมพูชา นอกจากนี้ยังขุดพบรูปสลักทวารบาลราชสีห์หน้าปราสาทจำนวนฐานครบเฝ้าทั้งสามปราสาท แต่ตัวสิงห์เหลือให้เห็นอยู่เพียงสามตัว หัวนาคปลายหน้าบัน ตัวยืดยาว สวมมงกุฎ มีสิงห์ หน้ากาล และลิงมาคายนาค 5 เศียร
หน้าบันและรูปสลักส่วนใหญ่ของปราสาท ได้ถูกนำไปเก็บและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิมายส่วนที่แตกหักก็ยังกองทิ้งไว้ในเขตปราสาท หน้าบันจำนวนหนึ่งได้ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ในวัดสุทธจินดา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
พิพิธภัณฑ์หลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เป็นงานสะสมของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) อดีตพระเถระสำคัญของภาคอีสาน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาในอดีต กรมศิลปากรจึงได้สร้างอาคารชั้นเดียวทรงไทยหลังหนึ่ง ภายในพื้นที่ของวัดสุทธจินดา เพื่อเก็บรักษางานสะสมของพระท่าน จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น เมื่อปี 2497
ปราสาทพะโค เป็นปราสาทที่มีความงดงามโดดเด่น มีลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง หากมีโอกาส ไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปชมปราสาทองค์นี้ที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวนัฐรินทร์ โล่ห์นารายณ์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวนัฐรินทร์ โล่ห์นารายณ์
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://sites.google.com/view/nattarin303/home
Post a Comment