แหล่งปลาโบราณ ภูน้ำจั้น
แหล่งปลาโบราณ ภูน้ำจั้น เมื่อ พ.ศ. 2541 ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่และใกล้เคียง ได้พบชิ้นส่วนวัตถุลักษณะเป็นเกล็ด บริเวณภูน้ำจั้นและพื้นที่ใกล้เคียง และเชื่อกันว่าเป็นเกล็ดงูขนาดใหญ่โดยเกล็ดเหล่านี้มีรูปร่างสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีดำ แข็ง และเป็นเงาวาว และมีชาวบ้านบางส่วนเก็บเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว บางส่วนเชื่อว่าสามารถรักษาโรคได้โดยนำไปแช่น้ำและดื่ม แต่ต่อมาเกิดอาเพศและเหตุร้าย เกิดกับผู้ที่นำเกล็ดไปเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
ชาวบ้านที่เก็บเกล็ดไปไว้จึงพากันนำเกล็ดเหล่านั้นไปถวายไว้ที่วัดโพนพิมานและมีพระครูจินดารัตนาภรณ์ (ศักดา ธัมมรโต) เป็นผู้รวบรวมไว้ที่วัด ซึ่งต่อมามีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า เป็นเกล็ดของอะไร จึงได้แจ้งหน่วยงานราชการให้เข้ามาตรวจสอบ กรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2541 ผลการตรวจสอบพบว่าเกล็ดดังกล่าวเป็นชิ้นส่วนปลาโบราณจำพวกเลปิโดเทส
ต่อมากรมทรัพยากรธรณีได้มอบหมายให้นายวราวุธ สุธีธร นำคณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศส เข้าทำการสำรวจแหล่งปลาโบราณภูน้ำจั้นอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการโดยพบซากปลาโบราณในชั้นหินโคลนสีเทาแกมเขียวและเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีมสำรวจจึงได้นิมนต์พระครูจินดา รัตนาภรณ์ (ศักดา ธัมมรโต) ประกอบพิธีเบิกเปิดหลุม
ซากดึกดำบรรพ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
1.เมื่อปลาตายไปและมีการสะสมตัวของซากปลาบริเวณพื้นตะกอนท้องน้ำที่กำลังแห้งขอดและสงบปราศจากพลังงานที่สามารถพัดพาไปที่อื่น
2.ตะกอนทับถมหนาขึ้นทำให้ไม่ถูกทำลายจากสัตว์แทะซาก ลดการผุพังจากจุลชีพและกระบวนการทางกายภาพอื่นๆ ทำให้ส่วนแข็งของซากปลาเกิดการเก็บรักษาไว้ได้ตามธรรมชาติ
3.ชั้นตะกอนหนาขึ้นและเกิดน้ำหนักกดทับแน่นขึ้นพร้อมกับเกิดมีสารละลายตามธรรมชาติแทรกมาตามช่องว่างของตะกอนและรูพรุนในซากปลาแล้ว การเชื่อมประสานของตะกอนและซากปลาจนแข็งตัวกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ปลาในชั้นหินตะกอน
4.เกิดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินที่เก็บซากดึกดำบรรพ์ปลายกตัวมายังบริเวณใกล้ผิวโลกและถูกกัดเซาะโดยลม น้ำ และปัจจัยอื่นๆ ตามธรรมชาติจนปรากฏให้เราเห็นได้ดังปัจจุบันธรณีวิทยาภูน้ำจั้น
แหล่งปลาโบราณภูน้ำจั้นตั้งอยู่บนหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ซึ่งหมวดหินภูกระดึงนี้ อยู่ส่วนล่างของกลุ่มหินโคราชจากการลำดับอายุทางธรณีกาลแล้ว สามารถจำแนกอายุอยู่ในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลายถึงยุคครีเทเชียสตอนต้น
ตะกอนของหมวดหินภูกระดึง สะสมอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบภาคพื้นทวีปซึ่งตีความหมายจากหลักฐานหินตะกอนมวลเม็ดซิลิกาและข้อมูลด้านตะกอนวิทยาอื่นๆ และจากหลักฐานดังกล่าวทำให้ ทราบว่าปลาโบราณภูน้ำจั้นเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและได้ตายไปกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์
Post a Comment