หนังใหญ่วัดบ้านดอน มหรสพชั้นสูงของแผ่นดิน
"หนังใหญ่วัดบ้านดอน" ตั้งอยู่ในวัดบ้านดอน หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ปัจจุบัน อาจารย์อำไพ บุญรอด เป็นผู้ดูแล สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2534 จากการปรับปรุงดัดแปลงจากศาลาธรรมสังเวชหลังเก่า โดยใช้งบประมาณจากเงินบริจาคเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ทิศเหนือติดกับอุโบสถวัดบ้านดอน ทิศตะวันออก ติดกับศาลาธรรมสังเวชและฌาปนสถาน ทิศตะวันตก ติดต่อกับอาคารหลวงพ่อประสาทพร และทิศใต้ ติดกับสระน้ำมีขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 42 ตารางเมตร ใช้เป็นสถานที่เก็บตัวหนังที่ชำรุด และสถานที่แสดงนิทรรศการตัวหนังที่ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ที่ยังคงเหลืออยู่ประมาณ 7 ตัว เพื่อเป็นการอนุรักษ์และ สืบสานศิลปะการแสดงอันเก่าแก่ของไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป มีอาคารโรงละครหนังใหญ่วัดบ้านดอน และอาคารพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดง ตัวหนังใหญ่ ผ่านตู้เก็บตัวหนังเป็นกล่องไฟเพื่อให้เห็นลวดลายที่วิจิตรบรรจงบนหนังใหญ่นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมเพื่อรับฟังคำบรรยาย ชมวีดีทัศน์การแสดงหนังใหญ่ ปัจจุบันหนังใหญ่ที่เคยมีอยู่จาก 200 ตัว ได้ผุพังไปบ้าง จึงได้มีการทำเพิ่มเติมอีก 77 ตัว และใช้เล่นแสดงร่วมกันกับหนังใหญ่ชุดเดิม เรื่องที่นิยมแสดง คือ เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา เป็นต้น
ตัวหนังสำคัญที่จัดแสดงไว้ คือ
หนังเจ้าหรือหนังครู เป็นตัวหนังที่ใช้สำหรับพิธีไหว้ครูเท่านั้น ตัวหนังนี้ จะไม่ใช้ในการแสดง ทำมาจากหนังเสือ ได้แก่ หนังฤๅษี หนังพระอิศวร หนังพระนารายณ์
หนังเฝ้าหรือหนังไหว้ เป็นภาพเดี่ยว เห็นหน้าด้านข้าง ตัวหนังอยู่ในท่าพนมมือไหว้ หนังชนิดนี้มีความสูงประมาณ 1 เมตร
หนังคเนจรหรือหนังเดิน เป็นภาพเดี่ยว เห็นหน้าด้านข้าง หากเป็นตัวพระ ตัวนาง หรือตัวยักษ์ ตัวหนังอยู่ในท่าเดิน ถ้าเป็นภาพลิงจะเป็นท่าหย่อง
หนังง่าหรือหนังเหาะ เป็นภาพเดี่ยว เห็นหน้าด้านข้าง เป็นตัวหนังทำท่าเหาะ ท่าแผลงศร ท่าถืออาวุธ
หนังเมือง เป็นหนังภาพเดี่ยวหรือหลายภาพในหนังผืนเดียว ตัวหนังที่มีลวดลายปราสาท ราชวัง หนังชนิดนี้ บางตัวสูงถึง 2 เมตร
หนังรถ เป็นหนังรูปลวดลายราชรถ มีทั้งตัวหนังเดี่ยว ๆ และหลายตัวในแผงเดียวกัน
รูปแบบการนำเสนอ, การจัดเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์
1. จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แบบถาวร พิพิธภัณฑ์ได้แบ่งส่วนที่จัดเก็บหนังใหญ่ 2 แห่ง คือแห่งที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์ ใช้จัดเก็บหนังชุดเก่า ส่วนที่เป็นหนังชำรุดจัดเก็บไว้ภายในห้องมีตู้ลิ้นชักเหล็ก 10 ชั้น ขนาด 1.5x 2.5 x 2.5 เมตร จำนวน 2 ใบ โดยจัดเก็บชั้น ละ 10 ตัวหน้าลิ้นชักมีรายชื่อตัวหนังติดอยู่ ตัวหนังที่มีสภาพสมบูรณ์จัดแสดงนิทรรศการ ตัวหนัง โดยจัดทำเป็นตู้กระจกติดผนังภายในมีตัวหนังติดแสดงไว้ และจัดทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ จึงด้วยผ้าขาวเป็นจอหนังและติดตั้งตัวหนังแสดง แห่งที่ 2 โรงละครหนังใหญ่ สร้างในปี 2551 ใช้เป็นสถานที่แสดงหนังใหญ่ สถานที่เก็บตัวหนังชุดใหม่ ซึ่งมีตัวหนังกว่า 100 ตัว และใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อม จัดเป็นแหล่งเรียนรู้หนังใหญ่ สำหรับนักเรียนนักศึกษา บุคคลทั่วไป ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น.วิทยานิพนธ์ การทำรายงาน งานการเรียนการสอน ฯลฯ จัดการแสดงหนังใหญ่ สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมมีความประสงค์จะชมการแสดง และรับแสดงในงานทั่วไปจะจัดการแสดงตามกำหนดที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้าไว้แล้วเท่านั้น ระยะเวลาในการแสดงขึ้นอยู่กับคณะหรือนักท่องเที่ยวเสนอแนะเรื่องที่ต้องการรับชม
2. จัดเป็นแหล่งเรียนรู้หนังใหญ่ สำหรับนักเรียนนักศึกษา บุคคลทั่วไป ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น วิทยานิพนธ์ การทำรายงาน งานการเรียนการสอน ฯลฯ
3. จัดการแสดงหนังใหญ่ สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมมีความประสงค์จะชมการแสดง และรับแสดงในงานทั่วไป
หนังใหญ่ของวัดบ้านดอน นี้ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างเมื่อไหร่ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า หนังใหญ่ชุดนี้มีลวดลายละเอียดงดงามมาก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของช่างหลวงลวดลายคล้ายหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ที่สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 บางท่านกล่าวว่าหนังใหญ่ชุดนี้อาจเป็นฝีมือของช่างสองสกุล คือ สกุลช่างกรุงเทพฯ และสกุลช่างอยุธยา แต่ข้อที่ว่าหนังชุดนี้สร้างขึ้นเมื่อใดนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัด หนังชุดนี้นำมาแสดงและเก็บรักษาไว้ที่วัดจันทอุดม (วัดเก๋ง) ซึ่งเป็นวัดพระยาศรีสมุทรโภคชัยชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เป็นผู้สร้าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลระยอง (ยังคงเหลือหลักฐานของวัดเพียงเจดีย์องค์เดียว ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2538)
Post a Comment