TKP HEADLINE

พิธีแห่ช้างเผือกและสืบชะตาแม่น้ำลี้

ความเชื่อและความศรัทธา “พิธีแห่ช้างเผือกและสืบชะตาแม่น้ำลี้”
สู่ความอุดมสมบูรณ์แห่งอำเภอทุ่งหัวช้าง


จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่งผลทำให้ประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเกือบจะหายไป คนรุ่นใหม่มักไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรม จะมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่ยังสามารถเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ แต่ยังคงขาดการบันทึกเก็บไว้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บและเผยแพร่ ดำรงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและสืบต่อกันไปไม่ให้วัฒนธรรมได้หายจากไป วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนร่วมอยู่ด้วยกันได้ตามความเชื่อในวัฒนธรรม วัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ เนื่องจากมนุษย์จะต้องอาศัยธรรมชาติในการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ จะสอดแทรกให้อนุรักษ์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับวัฒนธรรมและประเพณีในอำเภอทุ่งหัวช้าง

อำเภอทุ่งหัวช้าง เป็นอำเภอในจังหวัดลำพูนที่มีภูมิประเทศล้อมรอบไปด้วยภูเขาเป็นอำเภอเล็กๆ ด้วยความสมบูรณ์ทางภูมิภาค ประกอบมีแม่น้ำ และห้วยน้ำต่างๆหลายสายที่ไหลผ่าน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ทำสวนเป็นส่วนมาก วิถีชีวิตจึงมีความแตกต่างจากอำเภออื่น ๆ ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พืชผักจะปลูกกินเองตามบ้านเรือน เลี้ยงไก่ไข่ บางบ้านจะเลี้ยงหมู เพื่อไว้ประกอบอาหาร 

ส่วนแรกจะขอเล่าวิถีชีวิตของคนทุ่งหัวช้างส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ หรือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เรียกตนเองว่า “ปกาเกอะญอ” ซึ่งแปลว่า “คน” เป็นชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สะกอ หรือ ยางขาว หรือ ปากฺกะญอ เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และ โป หรือ โพล่ ในพื้นที่อำเภอทุ่งหัวช้างมี ปากกะญอ จำนวน 17 หมู่บ้าน จำนวน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านปวง 4 หมู่บ้าน ตำบลทุ่งหัวช้าง 7 หมู่บ้าน และตำบลตะเคียนปม 6 หมู่บ้าน รวมประมานประชากร 11,618 คน 3,648 ครัวเรือน มากที่สุดเป็นอันดับที่สองรองมาจากอำเภอลี้ คนที่นี่ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย เสน่ห์ของที่นี่ คือ “การทอผ้า” ชาวกะเหรี่ยงมีภาษาพูดเป็นของตนเอง การแต่งกายส่วนใหญ่จะตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทอขึ้นเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับอิทธิพลจากภายนอก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากภายนอก ส่วนคนรุ่นเก่ายังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ไม่ค่อยสนใจวัฒนธรรมภายนอก นอกจากการมีวิถีชีวิตที่น่าศึกษา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งทางวัฒนธรรมที่ผู้คนส่วนใหญ่จะร่วมกันมาทำบุญและร่วมเทศกาลประเพณีได้ตลอดปี คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ ผสมผสานเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการนับถือผีและมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาคือ “ฤดูจำศีล” หรือที่เค้าเรียกกันว่า “คนในห้ามออก คนนอกเข้า” 3 วัน 3 คืน


ประชาชนอำเภอทุ่งหัวช้างแต่งชุดประจำถิ่นเข้าร่วมประเพณีแห่ช้างเผือก 
ภาพโดย “องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม”

ประวัติความเป็นมาของประเพณีแห่ช้างเผือก
อำเภอทุ่งหัวช้างมีแหล่งน้ำที่สำคัญคือ อ่างเก็บน้ำขุนลี้ จากแหล่งต้นกำเนิดของลำน้ำลี้ที่ดอยสบเทอม บ้านหนองหลัก หมู่ 9 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร อยู่ระหว่างอำเภอแม่ทาและอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นเขตติดต่ออำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ คืออำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอทุ่งหัวช้าง และอำเภอเวียงหนองล่อง 

แม่น้าลี้มีความสำคัญมากต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ เพราะถือเป็นสายน้ำหลักและที่หล่อเลี้ยงการเกษตรกรของผู้คนในพื้นที่ หากปีใดเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ บ้านเมืองเกิดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล แม่น้าแห้งขอด ชาวบ้านจะจัดพิธีขอฟ้าขอฝนขึ้นมาโดยเฉพาะ จะทำกันในช่วงเดือนกรกฎาคมที่เรียกว่า “ประเพณีแห่ช้างเผือก” เป็นประเพณีที่น่าสนใจของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจะร่วมกันจัดและเข้าร่วมพิธีในปีนี้เนื่องจากประเพณีได้งดการจัดมาถึง 2 ปีแต่ชาวบ้านยังคงไม่เคยลืมพิธีกรรมต่าง ๆ

ความสำคัญของช้างเผือก
เหตุที่ชาวบ้านนำช้างเผือกมาเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมขอฝนนั้น คือ ช้างเผือกเป็นช้างมงคล หากเกิดขึ้นในบ้านเมืองใดจะทำให้บ้านเมืองนั้น อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร มีฝนตกตามฤดูกาล บ้านเมืองจะชุ่มฉ่ำอยู่เย็นเป็นสุข ขณะเดียวกันในชาดกเรื่องพระเวสสันดร มีช้างเผือกมงคลชื่อพระยานาเคนทร์ ซึ่งเป็นช้างคู่บารมีพระเวสสันดร วันหนึ่งเมืองกรินทราชได้ส่งพราหมณ์ 8 รูป มาขอช้างเผือกมงคลจากพระเวสสันดรเหตุ เพราะเมืองกรินทราชเกิดภาวะแห้งแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล พืชพรรณล้มตายชาวเมืองเกิดความเดือดร้อน พระเวสสันดรซึ่งขณะนั้นได้บำเพ็ญทานบารมีจึงได้ส่งพระยานาเคนทร์ให้แก่เมืองกรินทราช เมื่อได้ช้างเผือกไปเมืองกรินทราช ฝนฟ้าก็ตกตามฤดูกาลน้ำท่าอุดมสมบูรณ์

ลักษณะของช้างเผือก
ช้างเผือกมีลักษณะ 7 ประการ ดังนี้
1) ตาขาว มีดวงตาสีขาวเรื่อๆ เหมือนตาน้ำข้าว
2) เพดานขาว มีเพดานปากขาวดุจเนื้อในของเผือกมัน
3) เล็บขาว มีเล็บขาวเหมือนงานของมันเองทั้งหมด
4) พื้นหนังขาว สีคล้ายหม้อดินใหม่ที่ว่าสรรพางค์กาย
5) ขนหางขาว มีขนที่หางเป็นพวงพุ่มลดหลั่นกัน จนถึงน่อง 
6) ขนขาวมีขนทว่าสรรพางค์กายเป็นสีขาวนวล 
7) อัณฑะขาว

ลักษณะช้างจากชาดกเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบแนวคิดประเพณีแห่ช้างเผือกของคนลุ่มน้ำลี้ โดยประเพณีแห่ช้างเผือกน้ำได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว ชาวบ้านในลุ่มน้ำลี้เกิดปัญหาภัยแล้งจากการที่ฝนไม่ตก ทำให้ไม่สามารถทำนาในช่วงกรกฎาคมนั้นได้ จึงมีการคิดแบบแผนที่จะนำมาใช้กับพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ โดยนำช้างเผือกในชาดกเรื่องพระเวชสันดรมาเข้าร่วมพิธีกรรม โดยครูบาจักรธรรมจักโกเป็นผู้ริเริ่มนำชาวบ้านประกอบพิธีแห่ช้างเผือก โดยเริ่มจากการสานไม้ไผ่เป็นรูปช้าง แล้วนำฝ้ายมาทำให้เป็นช้างเผือก ซึ่งในปัจจุบันไม่มีใครสามารถสานช้างด้วยไม้ไผ่ เพราะกรรมวิธีค่อนข้างจะยาก ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญอย่างสูง หลังจากนั้นก็จะนำช้างเผือกแห่ไปตามลำน้ำลี้ โดยจะแห่ตั้งแต่ปลายน้ำไปสู่ต้นน้ำ การแห่จะส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ระหว่างชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำลี้ ในช่วงเวลาที่ประกอบพิธีกรรมจะมีการฟังธรรมและเทศนา น้ำแม่ลี้ปลาช่อน ฟังธรรมพญาคางคก ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาควบคู่กับไปด้วย  

ภายหลังจากครูบาจักรธรรมจักโก เจ้าอาวาสวัดทุ่งโป่งมรณภาพลง พิธีแห่ช้างเผือกได้สูญหายไปไร้การสืบทอดจากวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นเวลาร่วม 50 ปี ปัจจุบันพิธีกรรมดังกล่าวได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งพิธีกรรมการแห่ช้างเผือก จึงเป็นเสมือนการเชื่อมโยงผู้คนให้เรียนรู้และแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน

ขั้นตอนและพิธีกรรมทางศาสนา 
1) สถานที่จัดพิธีกรรม เริ่มจากวัดวังสะแกง อำเภอเวียงหนองล่อง และแห่มาตามลำน้ำลี้ไป จัดพิธีกรรมต่าง ๆ ที่วัดห้วยไร่ อำเภอทุ่งหัวช้าง ฝ่ายปู่ขิง บ้านห้วยไร่ อำเภอทุ่งหัวช้าง หมู่ที่ 8 และอ่างเก็บน้ำขุนลี้บ้านหนองหลัก หมู่ที่ 9 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน 
2) ระยะเวลาในการดำเนินงาน จะจัดในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีก่อนเข้าพรรษา เพราะเป็นฤดูกาลที่ชาวนากำลังจะหว่านกล้า ซึ่งจะมีจัดในระยะเวลา 3 วัน โดยจะเริ่มแห่จากอำเภอเวียงหนองล่องไปอำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง พอถึงบ้านปวงจะพักที่นั้น 1 คืน พอเช้าของวันถัดไป ก็จะเดินทางแห่ขบวนต่อ เดินทางไปสู่อำเภอทุ่งหัวช้าง หลังจากที่ขบวนแห่ช้างเผือกมาถึงอำเภอทุ่งหัวช้างก็จะนำช้างเผือกไปไว้ที่วัดห้วยไร่ 1 คืน และในเช้าของวันถัดไปก็จะมีพิธีกรรมการตักบาตร และนำช้างเผือกไปสืบชะตาแม่น้ำที่ฝ่ายปู่ขิง ส่วนในช่วงบ่ายขบวนแห่ช้างจะเริ่มแห่ช้างเผือกไปที่อ่างเก็บน้ำขุนลี้บ้านหนองหลัก 

ขั้นตอนการทำช้างเผือก 
วัสดุ อุปกรณ์ 
ประกอบด้วย ดอกฝ้ายหรือสาลี  ผ้าสีขาว ไม้ไผ่ เส้นลวด กาวใส และกระดาษสี

วิธีทำ
1) เริ่มจากนำไม้ไผ่มาเหลาแล้วนำมาจักสานโดยจะสานในส่วนของลำตัวของช้างเผือก คือ หัว แขน ขา งวง งา หูและหาง
2) จากนั้นนำแต่ละส่วนมาประกอบเข้ากันโดยใช้เส้นลวดมามัดเข้าด้วยกันเพื่อให้มีความแข็งแรงและได้รูปทรง
3) ประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกันแล้วจึงนำผ้าขาวมาพันตามตัวของช้างเผือกโดย ใช้กาวใสในการติด เพราะเป็นมีสีใสเข้ากับสีของผ้าขาว
4) ขั้นตอนสุดท้ายจะนำดอกฝ้ายมาติดตามตัวช้างเผือกและนำไปตากแดดประมาณ 7-8 ชั่วโมง


ขบวนแห่ช้างเผือก ในประเพณีแห่ช้างเผือก
ภาพโดย “องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม”

ประเพณีแห่ช้างเผือกของอำเภอทุ่งหัวช้าง
เส้นทางในการแห่ช้างเผือกของอำเภอทุ่งหัวช้าง เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านวังสะแกง อำเภอเวียงหนองล่อง ไปตามถนนลี้-ลำพูน ผ่านอำเภอบ้านโฮ่ง เข้าสู้เขตอำเภอลี้ ที่บ้านปาง ซึ่งขบวนแห่ช้างเผือกจะอยู่ที่บ้านปาง เป็นเวลา 1 คืน พอวันถัดไปขบวนจะเริ่มออกเดินทางจากวัดบ้านปางไปบ้านห้วย แล้วเข้าอำเภอทุ่งหัวช้าง เขตอบต.บ้านปวง จะเข้าสู่เขตเทศบาลทุ่งหัวช้างและจะเข้าสู่เขต อบต.ตะเคียนปม ซึ่งขบวนแห่จะพักที่ บ้านห้วยไร่ 1 คืนโดยจะมีพิธีกรรม ดังนี้
1. พิธีการสวดมนต์ขอฝน จะจัดในวันที่แห่ช้างเผือกมาไว้ที่วัดห้วยไร่โดยจะมีพิธีกรรม ช่วงเวลากลางคืน จะมีชาวบ้านแม่น้ำลี้มาร่วมกันสวดมนต์ ฟังเทศน์คันคากและเทศน์พญาปลาช่อน
2. ทำบุญตักบาตรตอนเช้า ในพิธีการทำบุญตักบาตรของประเพณีแห่ช้างเผือกนั้นจะมีการตักบาตรในช่วงเช้าของวันที่จะแห่ช้างไปที่อ่างเก็บน้ำขุนลี้ ซึ่งจะทำบุญตักบาตรและใส่จตุปัจจัยที่วัดห้วยไร่ หลังจากการตักบาตรเสร็จจะมีการฟังเทศน์และรับพรจาก พระสงฆ์


พิธีทำบุญตักบาตรและสืบชะตาในประเพณีแห่ช้างเผือก 
ภาพโดย “องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม”

3. การสืบชะตาแม่น้า จะประกอบในพิธีหลังจากตักบาตรช่วงเช้าแล้วจะนำช้างเผือกไปที่ฝ่ายปู่ขิง บ้านห้วยไร่ เครื่องสืบชะตาประกอบด้วยกระโจมสามขา จะผูกติดด้วยไม้ค้ำท่อนเล็ก จำนวนพอประมาณแต่ลงท้ายด้วยเลข 9 เครื่องประกอบการสืบชะตาอื่น ๆ ได้แก่ อ้อย หน่อกล้วย เทียนถุง บุหรี่ เมี้ยง หมาก พลู ข้าว ในการ ทำพิธีจะมีการบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาแม่น้ำ โดยจะมีรูปปั้นพญาคางคกและรูปปั้นพญาปลาช่อน เพื่อให้พญาทั้งสองไปขอฝนจากเทวดา และจะมีพิธีกรรมการถวายทานอาหารให้แก่พญาทั้งสอง โดยจะมีการนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป มาทำพิธีพิธีบวงสรวงเทวดา เพื่อเป็นการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการสืบชะตาแม่น้ำ พิธีกรรมการปล่อยช้างเผือก หลังจากที่ได้ทำในพิธีการในช่วงเช้าแล้วในช่วงบ่ายคณะศรัทธาก็จะได้นำช้างเผือกไปปล่อยที่อ่างขุนลี้บ้านหนองหลัก โดยจะแห่ตั้งแต่บ้านห้วยไร่ ผ่านบ้านห้วยห่าง บ้านไม้ตะเคียนและเข้าสู่หมู่บ้านหนองหลัก แล้วเดินทางไปต่อที่อ่างขุนลี้ โดยระหว่างแห่ขบวนก็จะมีชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ มาพรมน้ำส้มป่อยให้กับช้างเผือก และในขบวนแห่ก็จะมีการบรรเลงดนตรีจากเครื่องดนตรี ได้แก่ ฉาบ กลอง ฉิ่ง ตาม จังหวะพื้นบ้าน จะบรรเลงไปเรื่อย ๆ จนถึงอ่างเก็บน้ำขุนลี้

ขบวนแห่และการบรรเลงดนตรีจากเครื่องดนตรีในประเพณีแห่ช้างเผือก 
ภาพโดย “องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม”

พอถึงอ่างเก็บน้ำแล้วพระสงฆ์ก็จะสวดมนต์และให้พรแก่คณะศรัทธาที่มาร่วมพิธีแห่ช้างเผือก จากนั้นก็จะนำช้างเผือกปล่อยลงสู่แม่น้ำ โดยระหว่างที่ปล่อยช้างเผือกพระสงฆ์ก็จะสวดมนต์และคณะศรัทธาก็จะตั้งจิตอธิษฐาน หลังจากเสร็จพิธีพระสงฆ์และคณะศรัทธาก็เดินกลับพร้อม กับเอาก๋วยทานที่เหลือกลับไปไว้ที่ห้วยตามหมู่บ้านต่างๆที่แม่น้ำลี้ไหลผ่าน

พิธีปล่อยช้างเผือกลงสู่แม่น้ำลี้ในประเพณีแห่ช้างเผือก
ภาพโดย “องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม”

เรียบเรียงเนื้อหา: นางสาวทิพย์สุดา แสนโส บรรณารักษ์ ห้องสมุดประชาชนอำเภอทุ่งหัวช้าง
กศน.อำเภอทุ่งหัวช้าง  จ.ลำพูน

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ
: องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม

อ้างอิง
กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). ประเพณีแห่ช้างเผือก. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2565 จาก 
https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=4350

ภัทรพล สุขกาศ, สุทธิชัย อุวงศ์, นันทนา มาด้วง, เบฐจญาภา ศรีวิชัย และ ศศิธร สุคำ. (2564). รายงานโครงงานวิชาประวัติศาสตร์ เรื่อง ประเพณีแห่ช้างเผือกอำเภอทุ่งหัวช้าง [Ebook]. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2565 จาก https://pubhtml5.com/savh/zonc/basic/ 

thanawat jaksuta. (2558, 26 มิถุนายน). วิถีชีวิตคนขุนน้ำลี้ ประเพณีแห่ช้างเผือก [วีดิโอ]. จาก https://www.youtube.com/watch?v=9_Dug1wsx6Q&t=256s




Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand