น้ำถุ้ง ขี้งัว
วิถีธรรมชาติ ผสานวิถีชีวิต ก่อเกิดวิถีภูมิปัญญาไตลื้อ
ในอดีตสมัยที่ชาวบ้านยังไม่รู้จักน้ำประปา ได้อาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต ใช้ในการอุปโภค บริโภค ซึ่งการตักน้ำจากบ่อน้ำที่ลึกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านในอดีตจึงต้องสรรหาวิธีในการตักน้ำจากบ่อน้ำให้ได้มากที่สุด และประหยัดแรงมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งอุปกรณ์ในสมัยนั้นก็ยังมีไม่มากเท่าในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงต้องประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับตักน้ำขึ้นมาใช้งานโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติรอบตัวมารังสรรค์เป็นนวัตกรรมเพื่อการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
กลุ่มชนไตลื้อ หรือ ไทลื้อ บ้านธิ เป็นอีกชนหนี่งที่มีร่องรอยของการสร้างอุปกรณ์ในการตักน้ำแบบโบราณ ที่เรียกว่า “น้ำถุ้ง” ซึ่งหมายถึง ถังน้ำหรือภาชนะสำหรับใส่น้ำที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ มีรูปร่างคล้ายกรวยสั้น ปากกว้าง ก้นเป็นรูปมนแหลม ด้านปากจะมีไม้ไขว้กันเป็นหูสำหรับผูกกับเชือกที่ใช้ดึงหรือสาวน้ำถุ้งขึ้นจากบ่อน้ำ และจากประสบการณ์ความยากลำบากในการตักน้ำจึงเกิดภูมิปัญญาชาวบ้านที่ชาญฉลาด ปรับก้นน้ำถุ้งให้มีความมนแหลม เมื่อโยนลงไปในบ่อน้ำ น้ำถุ้งจะคว่ำลงให้น้ำเข้า เมื่อดึงเชือกขึ้นมาน้ำก็จะเต็มตัวน้ำถุ้งทุกครั้ง จึงทำให้น้ำถุ้งเป็นอุปกรณ์ตักน้ำที่นิยมใช้กันในสมัยโบราณ ชนไตลื้อบ้านธิจะทำน้ำถุ้งหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อเอาไว้ใช้สอย และส่งขายให้หมู่บ้านใกล้เคียง โดยหมู่บ้านที่มีการผลิตน้ำถุ้ง มากที่สุดจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน คือ ไทลื้อป่าเปา หมู่ 2 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
อีกหนึ่ง “ความพิเศษ” ทางภูมิปัญญาของกลุ่มชนไตลื้อบ้านธิที่สร้างน้ำถุ้งในสมัยคือการนำวัสดุจากป่าที่เกิดขึ้นตามวิถีธรรมชาติ อันได้แก่ ไม้ไผ่ ขี้ย้า และขี้วัว มาสรรค์สร้างวิถีภูมิปัญญาไตลื้อ ซึ่งในปัจจุบันจะพบเห็นได้ยากขึ้น เนื่องจากการจักสานน้ำถุ้งจะใช้สารเคมีเคลือบแทน
จากไม้ไผ่ สู่ "เส้นตอก" สำหรับจักสานน้ำถุ้ง
"ขี้ย้า" วัตถุดิบสำเร็จรูป จากป่านำมาตำให้ละเอียด
"ขี้งัว" "ขี้วัว" หมักในบ่อดิน สำหรับทาน้ำถุ้งไม่ให้มีรูรั่ว
บุคคลผู้สืบทอดวิถีภูมิปัญญาไตลื้อ...
นางเงินขา ศรีนวลใหญ่ หรือ อุ้ยนาง ชนไตลื้อบ้านธิ ปัจจุบันอาศัย ณ บ้านเลขที่ 31/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจักสานน้ำถุ้งแบบโบราณ เล่าว่า...ตอนอุ้ยนางเป็นสาว พ่อแม่จะเรียกให้มาสานน้ำถุ้ง ทุกวันหลังจากเลิกงานตอนเย็น เพื่อเอาไว้ใช้ในครอบครัว และเอาไปขายให้กับคนอื่น ๆ ในชุมชนใกล้เคียง อุ้ยนางจึงได้รับความรู้ ทักษะมาจากครอบครัวในตอนนั้น เมื่อก่อนบ้านป่าเปามีกลุ่มจักสานน้ำถุ้งด้วยวิธีโบราณ แต่ตอนนี้สมาชิกกลุ่มหลายคนเสียชีวิตไป ทำให้ยังเหลือครอบครัวของอุ้ยนางที่ยังอนุรักษ์วิธีการจักสานน้ำถุ้งแบบโบราณ และมีความตั้งใจอยากสืบทอดให้แก่เยาวชนรุ่นลูก รุ่นหลานต่อไป จึงได้เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่ คณะศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เด็กนักเรียนในชุมชน และถ่ายทำรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ เพียงหวังว่าเมื่อสิ้นลมหายใจไปแล้ว ภูมิปัญญาเหล่านี้จะยังถูกถ่ายทอด สืบสานให้คงอยู่ ตลอดจนต่อยอดเป็นนวัตกรรมอันดีงามไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด
กว่าจะเป็น “น้ำถุ้ง” ให้เราได้ใช้งาน...ผ่านวิถีธรรมชาติหลากหลาย
อุ้ยนาง ได้บอกเล่าวิธีการจักสานน้ำถุ้งแบบโบราณ ที่แตกต่างจากปัจจุบัน คือการใช้ขี้วัว หรือ ขี้งัว เป็นส่วนประกอบ ซึ่งพอได้ฟังแล้ว เราอาจคิดไม่ถึงเลยว่าขี้วัวนั้นจะนำมาใช้ในการทำเครื่องจักสานได้อย่างไร... อุ้ยนางเริ่มต้นจากการจักไม้ไผ่เป็นเส้น ๆ หรือเรียกว่า “ตอก” ขนาดแตกต่างกันหลายแบบ อันหนึ่งใช้ขึ้นรูป และอีกอันหนึ่งใช้สำหรับจักสาน จากนั้นนำมาขึ้นโครงน้ำถุ้ง โดยเริ่มจากก้นน้ำถุ้งก่อน อุ้ยนางมีการทำแม่แบบ หรือปีมไม้ สำหรับการขึ้นรูปทรง ขนาด ความลึกของน้ำถุ้ง ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง แตกต่างกันไป เมื่อขึ้นโครงเรียบร้อยแล้ว ก็นำตอกที่เหลือมาสานสลับไปมาจนขึ้นเป็นรูปร่างน้ำถุ้งที่มีขนาดพอเหมาะตามต้องการ จากนั้นสานเก็บปากน้ำถุ้งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสาน นำไม้มาทำเป็นหูหิ้วน้ำถุ้ง และขาน้ำถุ้งเพื่อให้ตั้งได้ง่ายขึ้นเมื่อไม่ได้ใช้งาน
ปีมไม้ สำหรับการขึ้นรูปทรง
นำตอกมาสานสลับไปมา
ลักษณะก้นน้ำถุ้งมีความโค้งมน
หลังจากจักสานเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่ภูมิปัญญาการอุดรูรั่วเพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมออกมาจากน้ำถุ้ง เริ่มจากการนำขี้วัวมาหมักไว้ในบ่อดิน ปิดฝาไว้ไม่ให้โชยกลิ่นและเพื่อไม่ให้ขี้วัวแห้ง นำขี้วัวมาทาให้ทั่วน้ำถุ้ง อุ้ยนางเล่าว่าสมัยก่อนไม่มีแปรงใช้เลยต้องใช้มือทามาตลอด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งสนิท ขี้วัวที่แห้งจะไปอุดรูรั่วของน้ำถุ้งได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นจะลงยาเคลือบน้ำถุ้งให้กันน้ำ เริ่มจากนำก้อนขี้ยาที่หาได้จากป่ามาตำด้วยครกดินแบบโบราณให้ละเอียด จากนั้นนำผงขี้ยามาผสมกับน้ำมันก๊าด (ในอดีตใช้ผสมกับยางไม้ แต่ในปัจจุบันยางไม้หาได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำมันก๊าดแทน) แล้วทาเคลือบน้ำถุ้งอีกครั้ง นำไปตากให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถนำมาใช้งานหรือจำหน่ายได้
นำขี้วัวมาทาให้ทั่วน้ำถุ้ง
ครกดินแบบโบราณสำหรับตำขี้ย้า
นำขี้ยาผสมน้ำมันก๊าด
ปัจจุบันนิยมนำน้ำถุ้ง มาใช้สำหรับเป็นภาชนะตักน้ำ กระถางปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับ ทำเป็นของฝาก ของที่ระลึก นำไปใส่สิ่งของเป็นชุดรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ นำไปใช้ตกแต่งอาคารบ้านเรือน และเพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่น ๆ อีกมากมาย
ยุวชนรุ่นหลัง กับ ความหวังต่อลมหายใจภูมิปัญญาหัตถศิลป์ถึงแม้ว่าน้ำถุ้งจะเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน แต่ในทางกลับกันผู้สืบทอด สืบสาน และประดิษฐ์น้ำถุ้งกลับน้อยลงไปทุกวัน จากเดิมที่มีกลุ่มจักสานในหมู่บ้านป่าเปาที่สานน้ำถุ้ง เกือบทุกหลังคาเรือน ตอนนี้กลับกลายเหลือเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้นที่ยังทำอยู่ หากยุวชนรุ่นหลังไม่เรียนรู้ สืบทอด และช่วยกันอนุรักษ์ ภูมิปัญญาหัตถศิลป์อันทรงคุณค่านี้คงต้องหมดลมหายใจไปอย่างแน่นอน อุ้ยนางมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาเหล่านี้ให้แก่ยุวชนรุ่นหลังทุกกลุ่ม ทั้งในชุมชนและผู้ที่สนใจ ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ให้ข้อมูล หวังเพียงเล็ก ๆ ว่าภูมิปัญญาที่ตนเองสืบทอดมานั้น จะมีผู้สืบทอด และคงอยู่ต่อไป
==============================================================
ข้อมูลเนื้อหา นางเงินขา ศรีนวลใหญ่
เรียบเรียงเนื้อหา นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนางวิไลวรรณ อุ๋ยสกุล
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์
Post a Comment