อาชีพท้องถิ่น “จักสานพนัสนิคม” จังหวัดชลบุรี
อำเภอพนัสนิคม เป็นชุมชนเก่าแก่ที่รุ่งเรืองมากกว่า 1,000 ปี มาแล้ว “พนัสนิคม” มีความหมาย มาจาก พนัส ที่แปลว่า ป่า คำว่า นิคม แปลว่า หมู่บ้านใหญ่หรือตำบลพนัสนิคม แปลใจความได้ว่า หมู่บ้านใหญ่หรือตำบลที่มีภูมิประเทศเป็นป่า และเป็นเมืองที่มีไม้ไผ่อย่างอุดมสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) มีผู้นำชาวลาวที่มีความคุ้นเคยและนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเกิดอาชีพจักสานพร้อมๆกับการตั้งชุมชน เครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นเครื่องจักสานที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ไทย ลาว จีน นับเป็นการผสมผสานความรู้จากภูมิปัญญา ที่ทรงคุณค่ายิ่ง
ชาวบ้านในอำเภอพนัสนิค จะจักสานไม้ไผ่ไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน จักสานเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น กระจาด กระบุง ไซ ตะกร้า กระด้ง ชะลอม เป็นต้น นับว่าเป็นอาชีพที่ทำควบคู่กันมาพร้อมกับอาชีพทำนา และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทั้งยังอนุรักษ์อาชีพเดิมให้ยังคงอยู่คู่ชุมชน
ในปัจจุบันอาชีพจักสานของชาวพนัสนิคม ได้มีการพัฒนาฝีมือและรูปแบบขึ้น จากเดิมเป็นการจักสานจากธรรมชาติ ต่อมาเริ่มมีการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ก็ได้ประดิษฐ์คิดค้นลายใหม่ๆ ที่สวยงาม ผสมผสานรูปทรง ใช้ความประณีตทางศิลปหัตถกรรม ตอบสนองผู้บริโภค โดยการนำวัสดุอื่นมาประกอบให้ได้งานที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือให้เป็นทางเลือกใหม่ เช่น การบุผ้าเครื่องจักสาน การจักสานหุ้มเซรามิค มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการทำจักสาน สู่การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และออกบูทแสดงสินค้า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของพนัสนิคมให้เป็นที่รู้จักของตลาดอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ อาชีพจักสานยังไม้ไผ่ ยังส่งเสริมการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สนองตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้ถึงการอนุรักษ์ และพัฒนาอาชีพเดิมให้มีคุณค่าอยู่เสมอ และยังคงเจตนาสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม โดยปราชญ์ผู้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการจักสานที่ประณีต สวยงาม มีประสบการณ์ด้านการจักสาน ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และฝึกฝน จากบรรพบุรุษ ถ่ายทอดองค์ความรู้ จากรุ่นสู่รุ่น เป็นการอนุรักษ์อาชีพช่างจักสาน ผู้มีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่เดิมมาให้คงอยู่สืบไปสู่ลูกหลาน
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางพิรุฬห์พร ทำทอง ครูผู้ช่วย
Post a Comment