ตามประเพณีล้านนา ช่วงเดือนเมษายน ในวันที่ 12-15 เมษายน ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานของเทศกาลสงกรานต์ ที่คนเมืองหรือชาวล้านนาจะเรียกเทศกาลนี้ว่า ปาเวณีปีใหม่ หรือ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่” ตามสำเนียงของชาวเหนือ ซึ่งมีความหมายว่า “ประเพณีสงกรานต์” ซึ่งเทศบาลนครลำปาง ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์ โดยให้ประชาชนร่วมทำบุญ ตักบาตร สักการะบูชา และสรงน้ำ “องค์พระเจ้าแก้วดอนเต้า” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปาง นำแห่รอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำ พร้อมทั้งมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ขบวนแห่สลุงหลวง ขบวนแห่จุมพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองและขบวนแห่ปีใหม่เมือง การแสดงกลองปูจาและการแสดงศิลปะวัฒนธรรม การประกวดเทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง
ขบวนแห่พระเจ้าแก้วดอนเต้า ในงานประเพณีปีใหม่เมืองลำปาง
ภาพโดย อำนาจ ดวงใย
ช่วงเวลาของประเพณีสงกรานต์ของนครลำปาง จะเริ่มต้นในวันที่ 9 เมษายน จะเริ่มต้นด้วยการแข่งขันการตีกลองปูจา โดยตัวแทนจากอำเภอต่าง ๆ ทั้ง 13 อำเภอ ส่งเข้าประกวด
กลองปูจา ภาพโดย อำนาจ ดวงใย
ในค่ำคืนของวันที่ 10-11 เมษายน เป็นการประกวดเพื่อคัดเลือกเทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง เพื่อเป็นตัวแทนของชาวลำปาง ในการอัญเชิญพระแก้วดอนเต้าบนรถบุษบก เพื่อแห่รอบเมืองลำปาง ให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวในเทศกาลปีใหม่เมือง
เทพบุตร เทพธิดาสลุงหลวงประจำปี 2565 ภาพจาก เทศบาลนครลำปาง เว็บเพจ
วันที่ 12 เมษายน ของทุกปี จะถูกกำหนดให้เป็นวันแห่สลุงหลวง จะมีพิธีอัญเชิญพระแก้วดอนเต้าจากวัดพระธาตุลำปางหลวง สู่นครลำปาง เพื่อนำเข้าสู่พิธีเจริญพระพุทธมนต์เย็น และสรงน้ำพระแก้วดอนเต้าบริเวณข่วงนคร
พระครูพิธานนพกิจ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง
และนายสิทธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ทำพิธีขอขมาและอัญเชิญพระเจ้าแก้วดอนเต้าขึ้นรถบุษบก
ภาพโดย อำนาจ ดวงใย
และมีพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งในช่วงเช้าวันที่ 13 เมษายน ซึ่งถือว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ จะมีขบวนแห่ปี๋ใหม่เมือง และขบวนแห่จุมพระคู่บ้านคู่เมือง ไปตามถนนฉัตรไชยสิ้นสุดหน้าโรงเรียนเทศบาล 3 (บุญทวงศ์อนุกูล) และอัญเชิญพระแก้วดอนเต้าไปยังอนุสาวรีย์เจ้าพ่อทิพย์ช้าง และอัญเชิญพระแก้วดอนเต้ากลับวัดพระธาตุลำปางหลวงในเวลาเย็น
พิธีทำบุญตักบาตร ภาพโดย อำนาจ ดวงใย
ขบวนแห่พระแก้วดอนเต้าให้ประชาชนสรงน้ำ ภาพโดย อำนาจ ดวงใย
สำหรับคำว่าสลุงหลวง สามารถอธิบายความได้ ดังนี้
“สลุง” เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึง ภาชนะใส่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ทำ ด้วยโลหะเงิน มีลักษณะเช่นเดียวกับขันน้ำ มีขนาดแตกต่างกันตามความต้องการในการนำไปใช้สอย
“หลวง” แปลว่า ใหญ่
“สลุงหลวง” จึงแปลว่า ภาชนะใส่น้ำใบใหญ่
ในช่วงปีแรกของการแห่สลุงหลวง ได้นำขันเงินใบใหญ่ของเจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง มาใช้ในการแห่ ใช้ชื่องานว่า
“ขบวนแห่งานบุญสลุงหลวง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร ได้ริเริ่มการสร้างสลุงเงินใบใหญ่ขึ้น มีการตีขึ้นรูปแบบสลุงเกลี้ยง ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ หนัก 2533 บาท หรือ 38 กิโลกรัม ความกว้างปาก 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็น จำนวนถึง 432,398 บาท ภายในสลุงสลักชื่อผู้บริจาคเงิน บริเวณบนขอบด้านนอกของสลุงจารึกอักษรล้านนา ความว่า
“สลุงแก่นนี้จาวเมืองลำปางแป๋งตานไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้น ส้มป่อย สระสรง องค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า เวียงละกอน ในวันปี๋ใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระศาสนา ฮอดเติงห้าปันวรรษา”สลุงหลวง ภาพโดย ต้นไม้ใหญ่
และสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเพณีที่ดีงามนี้ยังคงอยู่คู่นครลำปาง คือความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ ปรองดองกัน ของชาวลำปาง ที่แม้จะมีความแตกต่างแต่เราก็จะสามารถร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผลักดัน สร้างชุมชนน่าอยู่ และเมืองน่าอยู่ เพื่อให้นครลำปาง เป็นนครแห่งความสุข ตลอดไป
===========================================================
เรียบเรียงโดย จิตาภรณ์ เทวะนา บรรณารักษ์ชำนาญการ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดลำปาง
กศน. อำเภอเมืองลำปาง จ.ลำปาง
ถ่ายภาพโดย อำนาจ ดวงใย
อ้างอิง
งานศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2559). สาระน่ารู้จากศูนย์สนเทศภาคเหนือ. จาก https://linkdi.me/gps49
ธนวรรณ ทองศรี. (2557). ประเพณีแห่สลุง. จาก https://sites.google.com/site/lampangtraveling
/home/culture/salungluang
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง. (2565). เทพบุตรสลุงหลวง.
จาก https://www.facebook.com/photo?fbid= 1917470901778711&set= pcb.1917477305111404
อำนาจ ดวงใย (ตากล้องก๊อกแก๊ก). (ม.ป.ป.). พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า.
จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=4620212021416426&set=pb.100002830224968.-2207520000..salunglampang
สูจิบัตรงาน สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง (2562). https://www.facebook.com/salunglampang/
Post a Comment