นางสุกันทา ด้วยอ้าย หรือ ป้าด้วง มีใจรักในการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยเด็ก ป้าด้วงได้ศึกษาเรื่องการทอผ้ามาอย่างยาวนาน และมีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มทอผ้ามาก่อน จากนั้น ในปี พ.ศ. 2547 ป้าด้วงได้นำความรู้ที่มีมาริเริ่มก่อตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นใหม่ในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ โดยเริ่มแรกได้ใช้งบประมาณของตนเองมาลงทุนซื้ออุปกรณ์การทอผ้า เช่น กี่ หัวม้วน กระสวย ฝ้าย เป็นต้น และได้ชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาฝึกทอ จนเกิดเป็นกลุ่มผ้าทอยกดอกชื่อ "ศิลป์หัตถา" สินค้าที่มีชิ้นเดียวในลำพูน ประกอบกับฝีทอที่ละเอียดละออ สวยงาม ทำให้สินค้าของกลุ่มได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กศน.อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เทศบาลตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ฯลฯ ต่อมาผ้าทอดังกล่าวได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ประจำตำบล และนำไปจัดแสดงในงานมหกรรมสินค้าหลายๆ แห่ง จนกระทั่งในปัจจุบันได้รับการสั่งซื้อจากต่างประเทศมากมาย สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าเป็นอย่างมาก
จุดเด่นของผ้าทอยกดอก “ศิลป์หัตถา”
ผ้าทอยกดอก “ศิลป์หัตถา” เป็นสินค้าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก โดยที่ผ้าแต่ละผืน ป้าด้วงจะคิดค้นลวดลายขึ้นมาเองจากสิ่งที่เห็นรอบ ๆ ตัว เช่น ลายดอกมะลิ ดอกกล้วยไม้ ดอกดิน ดอกบัว ลายแมงมุม หรือดอกลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ประจำจังหวัดลำพูน ป้าด้วงจะแกะลวดลายเหล่านั้นก่อนลงมือทอผ้าเสมอ หรือหากลูกค้าต้องการลวดลายแบบใด ป้าด้วงสามารถออกแบบให้ได้ จากนั้นป้าด้วงจะสอนสมาชิกในกลุ่มให้สามารถถักทอลวดลายเหล่านั้นให้ออกมาได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ป้าด้วงยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ทำงานวิจัยด้านผ้าทอ เพื่อถ่ายทอดความรู้นั้นให้สามารถออกมาในรูปแบบเอกสาร ที่เป็นหลักฐานที่เยาวชนในรุ่นหลังจะสามารถเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้านี้ได้อีกด้วย
เรียบเรียงเนื้อหา : นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนายจอมแก่น พิศวงค์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนายจอมแก่น พิศวงค์
จุดเด่นของผ้าทอยกดอก “ศิลป์หัตถา”
ผ้าทอยกดอก “ศิลป์หัตถา” เป็นสินค้าที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก โดยที่ผ้าแต่ละผืน ป้าด้วงจะคิดค้นลวดลายขึ้นมาเองจากสิ่งที่เห็นรอบ ๆ ตัว เช่น ลายดอกมะลิ ดอกกล้วยไม้ ดอกดิน ดอกบัว ลายแมงมุม หรือดอกลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ประจำจังหวัดลำพูน ป้าด้วงจะแกะลวดลายเหล่านั้นก่อนลงมือทอผ้าเสมอ หรือหากลูกค้าต้องการลวดลายแบบใด ป้าด้วงสามารถออกแบบให้ได้ จากนั้นป้าด้วงจะสอนสมาชิกในกลุ่มให้สามารถถักทอลวดลายเหล่านั้นให้ออกมาได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ ป้าด้วงยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ทำงานวิจัยด้านผ้าทอ เพื่อถ่ายทอดความรู้นั้นให้สามารถออกมาในรูปแบบเอกสาร ที่เป็นหลักฐานที่เยาวชนในรุ่นหลังจะสามารถเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้านี้ได้อีกด้วย
ลวดลายการรังสรรค์ของกลุ่มอาชีพ
แกะลายผ้า และทอผ้าลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
นางสุกันทา ด้วงอ้าย ศิลปิน OTOP อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ในการแกะลายผ้าและทอผ้าลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยังความปลื้มปิติ และเป็นมงคลแก่ชีวิต ที่ได้มีการเลือกสีสันของผ้าทอ และวัสดุที่มีคุณภาพ สวยงามมาใช้ในการทอผ้าครั้งนี้ (แหล่งที่มา : ข่าวจาก สวท.ลำพูน)
วิธีการทอผ้า
1. การกรอด้าย นำด้ายมาใส่ในอุปกรณ์การกรอด้าย โดยหาจุดเริ่มต้นของเส้นด้าย จากนั้นเริ่มกรอด้ายใส่หลอดด้ายใหญ่
2. การเดินด้าย นำที่เดินด้ายตั้งวางไว้ นำหลอดด้ายใหญ่เสียบลงบนแผงตะขอที่เตรียมไว้ จากนั้นเริ่มเดินด้ายครั้งละ 20 หลอด จนครบ 58 รอบ
3. การสอดฟัน นำที่วางสอดฟันหวีมาตั้งไว้ แล้วนำฝ้ายที่เดินครบ 58 รอบ มามัดกับที่วางสอดฟันหวี แล้วเริ่มเอาฟันหวีมาวาง หลังจากนั้นดึงเส้นด้ายทีละเส้น สอดเข้าฟันหวี 1 คู่ ต่อ 1 รู ของฟันหวี จนครบจำนวนรูของฟันหวี
4. การเข้าหัวม้วน นำที่วางหัวม้วนมาตั้งวาง นำหัวม้วนเข้าใส่ที่วาง นำที่หนีบของเส้นด้ายประกบติดกับหัวม้วน แล้วนำที่หนีบของเส้นด้ายมาวางไว้ระหว่างกลางของหัวม้วน แล้วเริ่มหนีบเส้นด้าย ม้วนกระจายเส้นด้ายแต่ละสีให้ตรงกัน ดึงให้ตึง แล้วหมุนหัวม้วนไปเรื่อย ๆ จนหมดเส้นด้าย
5. การเก็บเขาย่ำ นำหัวม้วนขึ้นวางบนกี่ หลังจากนั้นจัดเส้นด้ายให้ลงตัวกับรูฟันหวี แล้วกลับเส้นด้ายด้านล่างขึ้นมาด้านบนเพื่อเก็บเขาเหยียบ แล้วกลับเส้นด้ายให้เหมือนเมื่อเก็บเขาเหยียบอีกด้านหนึ่ง หลังจากนั้นมัดเขา แล้วทากาวรอให้แห้ง แล้วมัดเขาย่ำ ติดรอก แล้วเริ่มลงมือทอดูว่าเส้นด้ายเส้นไหนผิดก็แก้ไข
6. การด้านดอก เลือกลายดอกของผ้าที่ต้องการทอ แล้วเริ่มด้านดอกโดยการนับเส้นด้ายตามลายดอกจนครบจำนวนดอก
7. การเก็บเขาดอก เก็บเขาดอกโดยการนำไม้ลิ่วมาขัดด้วยกระดาษทรายจนลื่น เริ่มเก็บเขาดอกตามลายที่เลือกไว้ แล้วทากาวกันด้ายไหล รอจนแห้งแล้วลองทอ ถ้าผิดก็แก้ไข
8. วิธีการทอ เริ่มจากไม้ที่ 1 ถ้าไม่ใส่เกสร ให้ทิ้งไม้ 1 ไม้ หลังจากทอครบทุกไม้ (การทอทุกรอบต้องทิ้งไม้ทุกรอบ) ถ้ามีเกสรให้ทิ้ง 2 ไม้ เหมือนขั้นตอนแรก
ผ้าที่ทอเสร็จแล้วต้องได้มาตรฐาน หน้ากว้าง 1 เมตร 85 เซนติเมตร ถ้าตัดเป็นชุดใช้ผ้ายาว 4 เมตร 20 เซนติเมตร ถ้าตัดเสื้อใช้ผ้ายาว 2 เมตร 20 เซนติเมตร
จุดเด่นของผ้าทอยกดอก “ศิลป์หัตถา”ของกลุ่ม
1. สินค้ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ผ้าทอแต่ละผืนมีลวดลายไม่ซ้ำกัน สร้างคุณค่าให้แก่ผ้าทอผืนนั้นๆ
2. ผ้าทอเป็นสินค้าส่งออกของตำบล ได้รับรางวัล OTOP 5 ดาว และส่งไปขายยังประเทศจีน
3. เกิดกลุ่มอาชีพทอผ้ายกดอกขึ้นในชุมชน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม
4. เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน เด็ก เยาวชน ผู้ที่สนใจ ได้ร่วมสืบสาน สืบทอด และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไว้
5. สร้างรายได้และโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่ตนเอง และถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้อื่นโดยการร่วมเป็นวิทยากรในโอกาสต่าง ๆ
ข้อมูลการติดต่อ กลุ่มอาชีพผ้าทอยกดอก สมาชิก จำนวน 35 คน
นางสุกันทา ด้วงอ้าย (ประธานกลุ่มอาชีพผ้าทอยกดอก) หมู่ที่ 3 บ้านบวก ต.ดงดำ อ.ลี้ จ.ลำพูน
ข้อมูลเนื้อหา : นางสุกันทา ด้วงอ้าย
เรียบเรียงเนื้อหา : นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนายจอมแก่น พิศวงค์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์ และนายจอมแก่น พิศวงค์
ดาวน์โหลดเอกสารบทความ : ผ้าทอยกดอก "ศิลป์หัตถา" สินค้าชิ้นเดียวในโลก...ลำพูน
Post a Comment