TKP HEADLINE

ลำภาข้าวสาร

 


ลำภาข้าวสาร

“ลำภา” เป็นคำโบราณ หมายถึง เที่ยวขอไป ชาวสามโคกนำมาใช้เรียก การลงเรือบอกบุญขอข้าวสาร และสิ่งของต่าง ๆ ไปทำบุญทอดกฐินตามวัดต่าง ๆ ในชุมชน ประเพณีลำภาข้าวสาร หรือที่คนทั่วไปใช้คำว่า รำพาข้าวสาร นั้น เป็น ประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ มีประวัติแรกเริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นการละเล่นของชาวมอญเมื่อครั้งอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยนั้นเรียกว่า “เมืองสามโคก” ประเพณีลำภาข้าวสาร จัดขึ้นหลังจากวันออกพรรษา จะทำในเวลากลางคืน ประมาณ 1 ทุ่ม ถึง เที่ยงคืน เพื่อบอกบุญพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ร่วมกันทำบุญ ชาวมอญทั้งชายหญิงจะลงพายเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามหัวบันไดท่าน้ำของบ้านเรือน และร้องเพลงลำภาไปด้วย เมื่อเจ้าของบ้านได้ยินบทเพลง ต่างก็จะออกมาร่วมทำบุญด้วยข้าวสารอาหารแห้ง และจตุปัจจัย เพื่อรวบรวมนำไปทอดกฐินที่วัดในหมู่บ้านต่อไป

50 กว่าปีที่ผ่านมา ประเพณีลำภาข้าวสารได้สูญหายไปจากอำเภอสามโคก เนื่องจากมีมิจฉาชีพอาศัยประเพณีลำภาข้าวสารเข้าไปปล้นจี้ทรัพย์สินของประชาชน จึงไม่ค่อยมีใครอยากร่วมทำบุญเหมือนเคย ทำให้ประเพณีอันดีงามเช่นนี้จึงค่อย ๆ สูญหายไป

นายไวพจน์ เอี่ยมสอาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง จึงคิดริเริ่มโครงการอนุรักษ์ประเพณีลำภาข้าวสาร เพื่อเป็นการอนุรักษาประเพณีที่สำคัญของชาวสามโคกไว้ และได้ดำเนินการมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี โรงเรียนชัยสิทธาวาส “พัฒนาสายบำรุง” วัดชัยสิทธาวาส วัดไก่เตี้ย ชมรมผู้สูงอายุตำบลกระแชง เป็นต้น รวมถึง ครู กศน.ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก ได้เข้าร่วมประชุมวางแผนการดำเนินโครงการ ในปี พ.ศ. 2561 โดยได้ประสานแม่เพลง คือ นางชะม้อย เครือโชติ ข้าราชการครูบำนาญ ที่ยังอนุรักษ์และสืบสานเพลงลำภาข้าวสารไว้ ให้มาร่วมร้องเพลงลำภาข้าวสารในโครงการดังกล่าวอีกด้วย

นางสาวชดาพร ฤทธิ์มังกร ครู กศน.ตำบลกระแชง ได้ตะหนักถึงความสำคัญของประเพณีลำภาข้าวสารเพราะเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญสามโคก จึงได้ฝึกขับรองเพลงลำภาข้าวสาร และสามารถถ่ายทอดให้นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเพื่อช่วยกันสืบสานและอนุรักษ์สิ่งดีงามไว้ให้ลูกหลานต่อไป

เนื้อร้องของเพลงลำภาข้าวสารจะใช้ถ้อยคำที่ง่ายเป็นการสื่อสารมีสัมผัสนอกสัมผัสในคล้องจอง มีจังหวะเนิบๆ อาจมีเครื่องดนตรีประกอบ เช่น ระนาด กลอง ฉิ่ง จะเข้ ขลุ่ย ซอ เพื่อเป็นทำนองในขณะขับร้อง การร้องเพลงลำภาข้าวสาร จะมีพ่อเพลง แม่เพลง เป็นต้นเสียงในการร้องเชิญชวนให้ทำบุญ และผู้ที่ร่วมเรือกันมาก็จะเป็นลูกคู่ ซึ่งเนื้อเพลงจะมีอยู่ 3 บท ได้แก่ บทเกริ่น บทขอ และบทให้พร โดยเนื้อเพลงลำภาข้าวสาร ในบทเกริ่นจะมีเนื้อหาเพื่อบอกจุดประสงค์ของการลำภาให้เจ้าของบ้านทราบและเตรียมนำข้าวสารหรือปัจจัยมาทำบุญ จะเริ่มต้นร้องเกริ่นด้วยคำว่า


“เทียบท่านาวาจอดเอย ประทับจอดที่หัวบันได

แม่เจ้าประคุณลูกเอาส่วนบุญมาให้ เฮ เฮ้ลา เห่ ลา ขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาระลอกเอย ลาหอมดอกดอกเอ๋ยจำปา

ข้างขึ้นแล้วหนอจะมาขอลำภา เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย”

เชิญทำบุญ ทอดกฐินเอย รายได้ทั้งสิ้นถวายวัดโบถส์ *(วัดที่เราจะไปทอดกฐิน)

เชิญร่วมทำบุญ เถิดแม่คุณสาวโสด เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

บุญกฐินมาถึงบ้านเอย ลำภาข้าวสารมาขอบอกบุญ

เชิญตามศรัทธา ทำบุญมาเถิดแม่คุณ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มาถึงแม่เรือนหลังนอกเอย ช่วยร้องบอกแม่เอ๋ยเรือนใน

แม่เจ้าประคุณ ลูกเอาส่วนบุญมาให้ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มาถึงเรือนหลังใหญ่เอย หัวบันไดแม่เอ๋ยเป็นทอง

แม่เจ้าประคุณ ลูกเอาส่วนบุญมากอง เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มาถึงหน้าบ้านนี้เอย อย่าได้รอรี จอดหัวบันได

แม่เจ้าประคุณ ลูกเอาส่วนบุญมาให้ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มาถึงแม่เศรษฐีเรือนนอกเอย ช่วยร้องบอก

แม่เศรษฐีเรือนใน ปลุกลูก จูงหลานลงมาทำทานไว ไว

เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มาถึงบ้านหลังใหญ่เอย หัวบันไดของแม่ล้อมแก้ว

แม่เจ้าประคุณ บุญของแม่มาถึงแล้ว เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มาถึงบ้านเรือนโตเอย มีทั้งร่มโพธิ์ มีทั้งร่มไทร

แม่เรือนเครื่องทรัพย์ แม่มัวนอนหลับหรือไร เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาเอย

จุดใต้อยู่วอมแวมเอย แลเห็นแก้มแม่อยู่ไวไว

โอ้แม่บัวชูก้าน แม่นั่งทำงานอะไร เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย ลาหอมดอก ดอกเอ๋ยอัญชัน

แม่เจ้าประคุณ เชิญทำบุญเสียด้วยกัน เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย ลาหอมดอก ดอกเอ๋ยลำดวน

ลูกมาขอลำภา ใช่ว่าจะมารบกวน เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย ลาหอมดอกดอกเอ๋ยชงโค

ทำบุญกับฉัน แม่ตักข้าวขันโต ๆ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย ลาหอมดอก ดอกเอ๋ยลำใย

แม่เจ้าประคุณ เชิญมาทำบุญไวไว เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย”

บทต่อไปจะเป็นเนื้อเพลงบทขอ มีความหมายในเชิงเชิญชวนในเจ้าของบ้านทำบุญ จะกล่าวถึงอานิสงฆ์ผลบุญต่าง ๆ ที่ผู้ทำจะได้รับหากร่วมทำบุญกับคณะลำภาข้าวสาร โดยมีตัวอย่างเนื้อหา ได้แก่

“ทำบุญอย่าเนิ่นนานเอย มาทำทานอย่าหน่วงเนิ่นช้า

วิมานล่องลอย มาจอดคอยอยู่หน้าท่า เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

ทำบุญก็ได้บุญเอย จะเสื่อมสูญไปเสียเมื่อไร

หว่านข้าวในนากลายเป็นหญ้าไปเสียเมื่อไร เฮเฮ้ ลา เห่ ลาขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย ลาหอมดอก ดอกเอ๋ยอัญชัญ

ทำบุญเถิดหนา จะได้ทันพระศรีอารย์ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย ลาหอมดอก ดอกเอ๋ยจงกล

ทำบุญกับฉัน ได้ขึ้นสวรรค์เบื้องบน เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย”

ส่วนเนื้อเพลงบทให้พร มีความหมายในเชิงการร้องขอบคุณ และให้ศีลให้พรแก่เจ้าของบ้านที่ร่วมทำบุญ ให้ได้รับบุญกุศลจากการร่วมทำบุญในครั้งนี้ เมื่อร้องให้พรแล้วก็จะพายเรือไปบ้านหลังอื่น ๆ ต่อไป

ทำบุญกับลูกแล้วเอย ลาลูกแก้วจะให้พร

เอาขันลงหิน มารับศีลรับพร เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

ทำบุญกับลูกแล้วเอย ลาลูกแก้วจะให้พร

ให้อยู่ดีกินดี เป็นเศรษฐีถาวร เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

มีลูกหญิงให้เป็นคุณนายเอย มีลูกชายให้เขียนสมุด

ขึ้นชื่อลือเลื่องอยู่ในเมืองมนุษย์ เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

ให้ยุ้งข้าวเหนียวสูงเท่ายอดมะพร้าวเอย

ให้ยุ้งข้าวเจ้าสูงเทียมยอดตาล

ให้บ้านเรือนใหญ่โตมโหฬาร เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

ทำบุญกับลูกแล้วเอย ลาลูกแก้วจะขอลา

ให้ทรัพย์สินเนืองนอง ทั้งเงินทองให้ไหลมา

เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย

ทำบุญกับลูกแล้วเอย ลาลูกแก้วจะให้พร

ให้อยู่ดีมีสุข อย่าได้มีทุกข์ มีร้อน เฮ เฮ้ ลา เห่ ลา ขาวเอย


จากการที่ได้สอบถามแม่เพลงนั้น คำว่า “เจ้าขาวแม่ลาละลอกเอย” เปรียบได้กับคลื่นน้ำที่ขึ้นมาเป็นละลอก ๆ ในขณะที่พายเรือไป และคำว่า “ขาวเอย” ก็เปรียบเหมือนสีของข้าวสารที่เจ้าของบ้านได้ร่วมทำบุญมา บางท่อนของเนื้อเพลง ที่ร้องว่า “จุดไต้อยู่วอมแวมเอย” บ่งบอกได้ว่า การลำภาข้าวสารจะลงเรือไปในตอนกลางคืน ซึ่งหัวบันไดท่าน้ำของบ้านเรือนจะจุดไต้ให้เห็นแสงวอมแวม เพื่อที่คณะลำภาจะพายเรือเข้าไปเรี่ยไรข้าวสารได้ ซึ่งเนื้อเพลงนั้นจะขึ้นอยู่กับพ่อเพลงแม่เพลงที่นำไปร้อง อาจจะมีความคล้ายคลึงกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ พ่อเพลงแม่เพลงบางท่านอาจจะร้องเนื้อเพลงที่แต่งไว้แล้ว หรืออาจจะด้นเนื้อร้องสดในขณะที่ลำภาข้าวสาร ให้สอดคล้องกับลักษณะของบ้านเรือน หรือเจ้าของบ้านที่ร่วมทำบุญก็ได้ตามความเหมาะสม


ข้อมูลเนื้อหาเรื่องราวโดย 

     นางชะม้อย เครือโชติ (แม่เพลงผู้ให้สัมภาษณ์)

เรียบเรียงเนื้อหาโดย 

     นางสาวชดาพร ฤทธิ์มังกร (ผู้ส่งบทความ)


ภาพถ่าย 

    ภาพที่ 3 และ 4 โดย นางสาวชดาพร ฤทธิ์มังกร

ภาพประกอบ 

    ภาพที่ 1, 2 และ 5 โดย องค์การบริหารส่วนตำบลกระแชง




ดาวน์โหลดเอกสาร

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand