TKP HEADLINE

การสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติก

 

อำเภอเวียงหนองล่องเป็นอำเภอขนาดเล็ก ซึ่งแต่เดิมเป็นกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 อำเภอเวียงหนองล่องตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด
ตำบลหนองยวง มีหมู่บ้านทั้งหมด 5 หมู่บ้าน 1).บ้านเหล่าดู่ 2) บ้านห้วยปันจ๊อย 3) บ้านหนองยวง
4)บ้านหัวห้วย 5) บ้านล้องเครือกวาว โดยมีประชากร 3
,781 คน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ปลูกผัก ทำสวนลำไย เป็นต้น

ความเป็นมาของการเกิดอาชีพ

การจัดการศึกษาอาชีพในปัจจุบันมีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นการพัฒนาประชากรของประเทศให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นการแก้ปัญหาการว่างงานและส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบเวลาที่จะพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ใน 5 กลุ่มอาชีพใหม่ ให้สามารถแข่งขันได้ใน 5 ภูมิภาคหลักโลก “รู้เขา รู้เรา เท่าทัน เพื่อแข็งขันได้ในเวทีโลก” ตลอดจนกำหนดภารกิจที่จะยกระดับการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้ประชาชนได้มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยเน้นการบูรณาการให้สอดคล้องกับศักยภาพด้านต่างๆ มุ่งพัฒนาคนไทยให้ได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพและการมีงานทำอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ประชาชนมีรายได้มั่นคง และมีงานทำ อย่างยั่งยืน มีความสามารถเชิงการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในรูปแบบใหม่ที่สร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ

ในสภาพปัจจุบันมนุษย์เราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากเป็นอย่างมาก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแต่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วและไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่มนุษย์จะต้องสร้างขึ้นหรือทดแทนโดยวิธีการต่าง ๆ เพื่อการอยู่รอด

กระเป๋าและตะกร้าสานพลาสติก ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแม่บ้านหนองยวงที่ได้นำทักษะการสานวัสดุที่มีความแข็ง เช่น วัสดุไม้ไผ่ หวาย ใบจาก ใบตอง ที่หาได้จากธรรมชาติให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระติบข้าว หวดนึ่งข้าว ตะกร้า กระบุง มาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านหนองยวง เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันทางการตลาดในปัจจุบัน โดย คุณกาญจนา ฟองฝั้น เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มจักรสารตะกร้าจากเส้นพลาสติกบ้านหนองยวง ซึ่งเป็นอาชีพงานหัตถกรรม เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชนบ้านหนองยวง

ด้วยเหตุนี้ทาง ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเวียงหนองล่อง โดย กศน.ตำบลหนองยวง จึงได้นำนโยบาย ยุทธศาสตร์และความจำเป็นดังกล่าวสู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมายและประชาชนมีรายได้และมีอาชีพเสริมจากการสานตะกร้าจากเส้นพลาสติกเป็นภาชนะใช้สอย มีสีสันสวยงาม คงทน มีความน่าสนใจ เหมาะสำหรับนำไปใช้สอยและเป็นของฝาก ผู้ที่สนใจควรศึกษาหาความรู้และฝึกปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ สามารถนำไปประกอบอาชีพให้กับตนเองได้

ผู้จัดตั้งกลุ่มจักรสานตะกร้าเส้นพลาสติกบ้านหนองยวง

คุณกาญจนา ฟองฝั้น หรือ คุณอ้อม อาศัยอยู่บ้านหนองยวง เลขที่ 73 หมู่ที่ 3 ตำบล
หนองยวง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันอายุ 50 ปี ประกอบอาชีพสานตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติก แต่ก่อนคุณอ้อมได้ทำงานในโรงงานบริษัทเอกชน ต่อมาบริษัทได้ปิดตัวลง คุณอ้อมจึงได้เริ่มมาประกอบอาชีพที่หมู่บ้านของตนเอง ต่อมาคุณอ้อมได้ริเริ่มการสานตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติก เมื่อปี พ.ศ.2559 และกระแสตอบรับของตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติกดีมาก จึงได้จัดตั้งกลุ่มจักรสารตะกร้าจากเส้นพลาสติกบ้านหนองยวง

วัสดุ/อุปกรณ์ การสานตะกร้าและกระเป๋าจากเส้นพลาสติก
            1. เส้นพลาสติกสีต่างๆ        
            2. สายวัด                       
            3. กรรไกร
            4. ลวดหนา                     
            5. ยางใส (ใช้ทำหูหิ้ว)

กระบวนการ/ขั้นตอน
            1. เลือกสายพลาสติกและสีสันที่ชอบ เพื่อให้เกิดลวดลายสวยงาม ได้พื้นสีดำ (สีสมมติ)  กับทำลายเป็นสีขาว  (สีสมมติ)

2. ตัดเส้นพลาสติกสีดำ (สีสมมติ) ยาว 28 นิ้ว จำนวน 14 เส้น (วิธีตัดต้องให้เป็นปลายเฉียงๆ เพื่อง่ายต่อการสอดสานกัน  และจำนวนเส้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จักสาน)
            3. เริ่มจากวางเส้นพลาสติก 7 เส้น  เรียงให้เสมอกัน เทคนิคคือเอาสมุดหนาๆ  มาทับไว้  และนำอีก 7 เส้นมาขัดกันเป็นกากบาท ให้อยู่กึ่งกลาง และสลับขึ้นลงบนล่าง และจัดเส้นให้เท่ากัน
            4. นำเส้นข้างใต้เส้นประมาณเส้นที่ 3 ที่อยู่ข้างใต้นำมาสอดและเป็นการล็อค ทั้ง 2 ฝั่งซ้าย ขวา  และทำการล็อคเช่นเดียวกัน ทั้งด้านบนและด้านล่าง
            5. พับเส้นทุกเส้นตามรอยที่เป็นขอบของการสานเป็นการขึ้นรูปตะกร้า
            6. เริ่มการตัดเส้นสีขาว (สีสมมติ) เพื่อนำขึ้นรอบทำลายของตะกร้าใช้ความยาว 18 นิ้ว
จำนวน 11 เส้น (วิธีตัดต้องให้เป็นปลายเฉียงๆ เพื่อง่ายต่อการสอดสานกัน จำนวนเส้นขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์ที่จักสาน)

7. จากนั้นนำเส้นสีดำ (สีสมมติ) ที่ล็อคไว้ออกถอยออกมา เพื่อเป็นการเตรียมเริ่มสานขึ้นรูป

8. ทำการขึ้นเส้นสีขาว (สีสมมติ) มาขัดไปมายึดเกณฑ์จากตรงกลางของเส้นทั้งหมดก่อน สลับไปมาเป็นตารางไปเรื่อย ๆ

9. ชั้นที่ 2 ดันเส้นให้ชิด ก็สานสลับกันไปเป็นชั้นๆ โดยจะต้องมีการล็อคเส้นเพื่อไม่ให้เลื่อนไปมาเสมอ

10. พอสานไปจนใกล้ขอบก็ทำการเหน็บเส้นให้ไปทางเดียวกัน ทิ่มลงไปทางก้นตะกร้าเพื่อเตรียมเอาเส้นสีขาวมาทำขอบการถัก คือ นำเส้นซ้ายสุด  มาไขว้อ้อมไปด้านหลังวกกลับของเส้นที่ 3 ต่อด้วยนำเส้นขวาสุดนับถอยหลังไปไขว้ด้านหลังวกกลับเส้นที่ 3 เช่นกัน ทำสลับไปมาอย่างนี้จนสุดปลายพลาสติก

11. เริ่มทำขอบนำเส้นพลาสติกสีขาว (สีสมมติ) 2 เส้นประกบกัน แล้ววางทาบไปกับขอบตะกร้าดึงเส้นสีดำ (สีสมมติ) ที่ล็อคดึงกลับมา แล้วก็สานทับไปกับขอบเส้นสีขาว (สีสมมติ) แต่ต้องสลับลายสีไปด้วยเพื่อเป็นการสร้างขอบตะกร้าให้เกิดลวดลาย ทำอย่างนี้ทุกเส้นรอบตะกร้า

12. ขั้นทำการเก็บชาย ตัดชายให้สั้นพอดีกับการซ่อนลายได้แล้วก็เหน็บเก็บเข้าไปด้านใน ทำทุกเส้นเพื่อความเรียบร้อย

13. การทำหู ตัดเส้นพลาสติก 2 เส้น แล้วนำมาตัดผ่าครึ่ง

14. เพื่อนำไปถัดสานขัดกันไปมานั้นไขว้เส้นพลาสติก 2 เส้นเข้าหากัน โดยจะเรียงเป็น 4 เส้น

15. นำมาติดหูที่ตัวตะกร้าโดยการรวบเส้นของหูเข้าด้วยกัน แบ่งแยกเป็น 2 ข้าง แล้วร้อยเข้ากับตัวตะกร้า สานเป็นลวดลาย แล้วทำการเก็บปลายเส้นให้เรียบร้อย สำหรับเป็นหูหิ้ว หรือแขวนก็ได้หรือนำมาสอดใส่ในสายยางพลาสติกแล้วนำไปติดหูที่ตัวตะกร้าแทนก็ได้


    จากเส้นพลาติกที่ดูธรรมดา จึงนับว่าเป็นอาชีพหนึ่งในชุมชนบ้านหนองยวงที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองยวงและประชาชนที่สนใจในการสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติก สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ และที่สำคัญกลุ่มที่สนใจส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ การสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติกยังช่วยในการแก้ไขปัญหาโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุอีกด้วย เนื่องจากสานกระเป๋าและตะกร้าจากเส้นพลาสติกจะต้องใช้สมาธิและความจำ

ข้อมูลเนื้อหาโดย : นางกาญจนา ฟองฝั้น (โทรศัพท์: 06 2276 4114)

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : นายรัชชานนท์ เงินมีศรี  ครู กศน.ตำบลหนองยวง



Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand