อาชีพการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามกราม โดยธรรมชาติสามารถพบเห็นได้ตามแม่น้ำลำคลอง แทบทุกจังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งสมัยก่อนนั้นกุ้งชนิดนี้ค่อนข้างชุกชุมจับได้ง่าย ชาวบ้านนำมาประกอบอาหารตามครัวเรือน หรืออาจจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านทั่วไปที่ไปจับหา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้กุ้งก้ามกรามที่อยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงทำให้ปริมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้เกิดการเลี้ยงเป็นเชิงการค้ามากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
ชาวบ้านโนนหัวช้าง หมู่ 13 บ้านโนนภักดี หมู่ 9 ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ปลา ได้บูรณาการอาชีพท้องถิ่นดั้งเดิมจากการเลี้ยงสัตว์ปลา หันมาประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ตามบริบทของพื้นที่ทำกินที่มีพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญที่มีคลองชลประทานไหลผ่านจากเขื่อนลำปาว
นายเคน มังครุดอน และ นางราศรี มังครุดอน หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม สามีภรรยาชาวบ้านโนนภักดี ผู้ริเริ่มการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามน้ำจืด ในพื้นที่ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเมื่อ ปี พ.ศ. 2530 มีตัวแทนเกษตรกรผู้จำหน่ายพันธุ์ลูกกุ้งจากภาคกลางมาสำรวจข้อมูลในการหาเกษตรกรผู้ที่สนใจเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในพื้นที่ตำบลนาเชือก ซึ่งมีบริบทติดกับเขื่อนลำปาว เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีคลองชลประทานไหลผ่านและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี
ซึ่งนายเคน มังครุดอน และภรรยาได้สนใจในการนำพันธุ์ลูกกุ้งมาทดลองเลี้ยง จนประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอยู่ดีกินดี จนปัจจุบัน และได้มีสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่สนใจและหันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่เกือบทุกหลังคาเรือน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว เป็นอาชีพหลักของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ชาวตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์จวบจนปัจจุบัน
สถานที่ตั้ง ผู้ประกอบอาชีพ
ชื่อฟาร์มกุ้ง : พิสิษฐ์ฟาร์ม
บ้านเลขที่ 104 หมู่ 9 บ้านโนนภักดี ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 46120
กระบวนการขั้นตอนการผลิต
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามทำได้หลายวิธี เช่น เลี้ยงในกระชัง เลี้ยงในคอกเฝือก หรือที่ล้อมขังในร่องสวน และในบ่อ แต่ถ้าจะเลี้ยงให้ได้ผลจริงจังแล้ว ควรเลี้ยงในบ่อดิน ปัญหาที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม คือ น้ำ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานที่ที่จะเลี้ยงกุ้ง จึงต้องพิจารณาหาแหล่งน้ำที่มีอยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ ลำธาร คลองที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี และน้ำนั้นจะต้องมีคุณภาพดี มีค่าความเป็นกรด-ด่างระหว่าง 7.5–8.5 ปลอดสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และดินจะต้องสามารถเก็บกักน้ำได้ ไม่ควรเป็นดินทราย หรือดินที่มีทรายเกินกว่าร้อยละ 30 เพราะจะมีปัญหาในการเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งถ้าจะแก้ไขจะต้องลงทุนสูง อีกประการหนึ่งที่จะต้องพิจารณาด้วย คือ การคมนาคม ถ้าอยู่ใกล้ทางคมนาคมติดต่อสะดวก การขนส่งไม่ทำให้ลูกกุ้งบอบช้ำมาก สามารถจับกุ้งส่งตลาดได้รวดเร็ว กุ้งไม่เสื่อมคุณภาพ และราคาไม่ตก ในบางแห่งอาจใช้น้ำบาดาลเลี้ยงกุ้งก็ได้ แต่ต้องลงทุนสูง สำหรับการเลี้ยงในร่องสวน หรือในที่ล้อมขัง ที่มีน้ำอยู่แล้ว และไม่สามารถสูบน้ำออกหมดได้ ก่อนปล่อยกุ้ง ต้องฆ่าปลาที่มีอยู่เดิมออกให้หมด มิฉะนั้น ปลาเหล่านี้อาจแย่งอาหาร หรือกินลูกกุ้งได้
การเตรียมบ่อ
ถ้าเป็นบ่อเก่า หรือร่องสวนที่มีอยู่เดิม ให้ปรับแต่งคันบ่อให้สูงพ้นระดับน้ำท่วม ถ้าก้นบ่อมีดินเลน ต้องขุดลอกออก แล้วตากบ่อ และโรยปูนขาว ถ้าเป็นที่ใหม่ยังไม่ได้ขุดบ่อ จะต้องวางผังให้ถูกต้อง ขั้นตอนแรกจะต้องตรวจสอบระดับดินว่า พื้นเรียบ และน้ำท่วมหรือไม่ เพื่อจะได้กำหนดระดับขอบคันบ่อให้พ้นน้ำไว้ การวางผังบ่อจะต้องให้ด้านยาวมากกว่าด้านกว้าง และยาวไปตามทิศทางของลม คือจากเหนือไปใต้ ขนาดของบ่อไม่ควรจะเล็กหรือใหญ่เกินไป ควรมีขนาด 1-5 ไร่ กว้าง 25-30 เมตร เพราะถ้าเล็กเกินไปจะเลี้ยงกุ้งได้น้อย ระดับความลึก 80-100 เซนติเมตร ให้คันบ่อมีความลาด 1:2 หรือ 1:3 ความกว้างบนคันบ่อไม่ควรต่ำกว่า 3 เมตร พร้อมทั้งบดอัดคันบ่อให้แน่น เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึม และใช้ปลูกต้นไม้เป็นร่มเงาได้ ขอบบ่อควรปลูกหญ้าคลุมดิน เพื่อป้องกันคันดินขอบบ่อพัง ตรงท้ายบ่อควรปักไม้ไผ่ หรือปลูกพืชลอยน้ำ เช่น ผักบุ้ง หรือผักตบชวาไว้รอบๆ เพื่อลดการปะทะของคลื่นลม และเป็นที่หลบซ่อนของกุ้งด้วย
การเลี้ยง
ก่อนปล่อยลูกกุ้งต้องสูบน้ำเข้าบ่อไว้ก่อน 1 วัน ถ้าเป็นบ่อใหม่ ไม่ควรสูบน้ำใส่บ่อนาน
เพราะจะทำให้แมลงปอมาไข่ และเกิดตัวอ่อน ซึ่งสามารถจับลูกกุ้งกินได้ ถ้าเป็นบ่อเก่าที่เลี้ยงอยู่แล้ว ควรใช้อวนมุ้งไนล่อนสีฟ้า กั้นเป็นคอกภายในบ่อไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับอนุบาลลูกกุ้งระยะหนึ่ง ประมาณ 1 เดือน
ในกรณีที่เลี้ยงกุ้งอย่างเดียว และมีน้ำถ่ายเทดี ควรปล่อยกุ้งในอัตราส่วน 15-30 ตัวต่อตารางเมตร เมื่อกุ้งมีอายุได้ประมาณ 2-3 เดือน จึงคัดกุ้งที่มีขนาดใกล้เคียงกันไปเลี้ยงในบ่อเดียวกัน ในอัตราส่วน 5-10 ตัวต่อตารางเมตร หลังจากการคัดขนาดแล้ว มีอัตราการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน ถ้าน้ำถ่ายเทไม่มาก ต้องลดจำนวนลงเหลือ 3-5 ตัวต่อตารางเมตร จากการสำรวจผู้เลี้ยงกุ้ง ที่ปล่อยกุ้งในอัตราส่วน 5-10 ตัวต่อตารางเมตร จะได้ผลิตผล 150-200 กิโลกรัมและไร่ ในระยะ 7-8 เดือน ถ้าปล่อยกุ้งแน่นเกินไปกุ้งจะโตช้า ในกรณีที่ใช้วิธีทยอยจับกุ้งโตออกตลอดปี ควรปล่อยกุ้งเป็นระยะทุก 3-4 เดือน ในจำนวนที่มากกว่ากุ้งที่จับออก 3 เท่า เช่น ถ้าจับกุ้งใหญ่ขาย 1,000 ตัว ในระยะ 4 เดือน ก็ต้องปล่อยกุ้งเล็กลงไปแทนประมาณ 3,000 ตัว
อาหารและการให้อาหาร
ส่วนประกอบของอาหาร กุ้งเป็นสัตว์ที่กินอาหารไม่เลือก ทั้งซากสัตว์ และเมล็ดพืช กุ้งหากินในเวลากลางคืนตามพื้นก้นบ่อ ฉะนั้นอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งในบ่อจึงได้แก่ เนื้อปลาสด เนื้อหอย และอาหารผสมบดและอัดเม็ดตากแห้ง และเนื่องจากกุ้งกินอาหารช้า อาหารผสมจึงควรจมอยู่ในน้ำได้นาน ไม่ละลายน้ำเร็ว อย่างน้อยจะต้องคงรูปอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนผสมของอาหารควรมีโปรตีนร้อยละ 20-30 สำหรับกุ้งเล็กที่มีขนาด 1-2 เซนติเมตร ที่เลี้ยงในบ่อดิน เริ่มให้อาหารตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง ประมาณ 1/2 กิโลกรัมต่อจำนวนกุ้ง 10,000 ตัวต่อวัน หว่านวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น และให้เพิ่มอีกประมาณร้อยละ 30-50 ของน้ำหนักอาหารเดิมต่อทุก 2 สัปดาห์ จนอายุประมาณ 4 เดือน จึงให้เพิ่มในอัตราร้อยละ 25-30 ของน้ำหนักอาหารเดิมต่อทุก 3-4 สัปดาห์ โดยลดจำนวนครั้งเหลือเพียงครั้งเดียวในเวลาเย็น ในการพิจารณาให้อาหาร เรามีวิธีการพิจารณาดังนี้ ถ้าเป็นกุ้งเล็กต่ำกว่า 100 ตัวต่อกิโลกรัม ให้อาหารประมาณร้อยละ 10-12 ของน้ำหนักกุ้ง ถ้าเป็นกุ้งขนาด 50-80 ตัวต่อกิโลกรัม ให้อาหารประมาณร้อยละ 5-8 ของน้ำหนักกุ้ง ถ้ากุ้งใหญ่กว่านี้ให้อาหารประมาณร้อยละ 1-3 ของน้ำหนักกุ้ง ถ้าเป็นอาหารสดจะต้องให้มากกว่านี้ประมาณ 3-5 เท่า อาหารเม็ดแห้งต้องใช้ประมาณ 3 กิโลกรัม จึงจะเทียบได้กับอัตราส่วนน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม ราคาอาหารเม็ดกิโลกรัมละประมาณ 8-10 บาท เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งประมาณ 30-40 บาทต่อน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม โดยมีอัตรารอดตายประมาณ ร้อยละ 30-40
ผลผลิต
กุ้งที่เลี้ยงควรจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 7 เดือน ควรจับเมื่อตัวผู้มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 80 กรัม และตัวเมียไม่ควรต่ำกว่า 50 กรัม ปริมาณนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างคือ การจัดการแหล่งน้ำและอาหาร ในการจับกุ้งนั้น เราควรพิจารณาปัจจัย 2 ประการ คือ ขนาดที่ตลาดต้องการ และขนาดที่กุ้งเจริญเติบโตถึงจุดอิ่มตัว ผู้เลี้ยงย่อมทราบดีว่า กุ้งโตไม่เท่ากัน ยิ่งเลี้ยงไป ตัวผู้ยิ่งโตกว่าตัวเมียเมื่ออายุประมาณ 8-12 เดือน ตัวผู้จะโตกว่าตัวเมียประมาณ 2 เท่า
จากการสังเกตการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อพบว่า ควรจับกุ้งเมื่อตัวผู้มีขนาด 8-10 ตัวต่อกิโลกรัม และตัวเมียมีขนาด 15-18 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระยะที่กุ้งก้ามกรามในบ่อมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุด ถ้าพ้นจากนี้ไปจะโตช้า ในการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเป็นธุรกิจนั้น ควรจับกุ้งโดยใช้อวนจะเหมาะกว่าวิธีอื่น ทั้งนี้เพราะกุ้งโตไม่เท่ากัน การใช้อวน ทำให้สามารถเลือกจับกุ้งที่โตออกขายก่อน กุ้งไม่บอบช้ำ ช่วยให้ได้ราคาดี และประหยัดทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตามไม่ควรจับกุ้งที่กำลังลอกคราบ หรือเพิ่งลอกคราบใหม่ๆ เพราะเปลือกยังนิ่ม และเกิดบาดแผลง่าย ทำให้เน่าเสียเร็ว และไม่ควรจับกุ้งขังไว้ค้างคืน เพราะจะทำให้กุ้งได้รับความเสียหายเนื่องจากกุ้งลอกคราบ และส่วนมากจะถูกกุ้งตัวอื่นกิน เหลือบางส่วนเท่านั้น โดยราคาซื้อขายที่ปากบ่อ กิโลกรัมละ 250 บาท นำส่งลูกค้ากิโลกรัมละ 280-400 บาท ตามระยะทาง เนื่องจากต้องเติมน้ำมัน 2 ส่วน คือ ทั้งน้ำมันรถยนต์และน้ำมันเครื่องทำออกซิเจนในถังกุ้งอีกด้วย
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวพิฐชญาณ์ ศรีวงศ์แสง
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นายเอกรัตน์ ภูบุตตะ
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://346kalasin.blogspot.com/2022/08/blog-post.html
Post a Comment