ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสานในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา
นางศรีนวล นามเมือง บ้านใหม่น้ำเงิน หมู่ที่ 12 ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ของตนเองตามศาสตร์พระราชาที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งพื้นที่ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาข้อมูลและทรงพบว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ครอบครองพื้นที่โดยเฉลี่ยครอบครัวละ 10-15 ไร่ จึงทรงแนะนำให้จัดสรรโดยมีเป้าหมายว่า ต้องทำให้เรามีข้าวปลาอาหารพอกินตลอดปี เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและมีรายได้เหลือพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยในเรื่องจำเป็น โดยใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นเกณฑ์ปรับใช้ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ส่วนแรก 30 เปอร์เซ็นต์ใช้สำหรับขุดสระน้ำเพื่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำที่กินหรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ รอบ ๆ ขอบสระปลูกไม้ต้นที่ไม่ใช้น้ำมาก และสร้างเล้าไก่บนสระ พื้นที่ส่วนที่สอง 30 เปอร์เซ็นต์ใช้สำหรับทำนา พื้นที่ส่วนที่สาม 30 เปอร์เซ็นต์ใช้ปลูกไม้ผล ไม้ต้น หรือไม้ที่ใช้สอยในครัวเรือน ใช้สร้างบ้านเรือน ทำอุปกรณ์การเกษตร หรือใช้เป็นฟืน พื้นที่ที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นที่อยู่อาศัย ทางเดิน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ หรือปลูกผักสวนครัว สมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตรหรือหลักการโดยประมาณ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม
นางศรีนวล นามเมือง ประชาชนบ้านใหม่น้ำเงิน หมู่ที่ 12 ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา มีอาชีพทำการเกษตร มีพื้นที่ว่างซึ่งเป็นที่นาประมาณ 5 ไร่ และไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงได้เริ่มจากคนในครอบครัว โดยปรับพื้นที่ของตนเองเพื่อทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายในครอบครัวที่ทำขึ้นมา หลังจากได้ดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งมีผลผลิตที่สามารถจำหน่ายหลังจากที่เรามีกินมีใช้อย่างเพียงพอ และได้รับผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นได้แบ่งขายเป็นรายได้เพิ่มขึ้นของครอบครัว ได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองและพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้ที่ได้รับการสนใจและได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชมชนได้ศึกษาเรียนรู้ ได้แก่ เลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเนื้อ การประมงเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ (การขยายพันธุ์) เลี้ยงหอยขม การเพาะเห็ด การปลูกผักสวนครัว
นางศรีนวล นามเมือง กล่าวว่า ได้นำตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้พื้นที่ในการเกษตรที่ตนเองมีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นตัวนำการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งได้รวมถึงการใช้จ่ายที่เหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น การวางแผนในการสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้ความเป็นอยู่ไม่ขัดสนก่อเกิดความสุขของตนเองและครอบครัว มีความคิดว่า ตนเองมีความขยันและสามารถประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ แม้บางครั้งต้องอาศัยความอดทน การลองผิดลองถูกและการแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอจนประสบผลสำเร็จ เมื่อมีผู้ขอความช่วยเหลือตนเองก็จะอาสาสมัครเป็นผู้นำในการเรียนรู้ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ได้แก่ นำพันธุ์ที่ปลูกไว้ให้แจกจ่ายแก่ผู้ที่สนใจ มีความสุขทุกครั้งที่แบ่งปันความรู้และการลงมือฝึกปฏิบัติจริง ถ่ายทอดความรู้ของตนเองให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ ในการใช้ชีวิตประจำวันมีการใช้จ่ายอย่างประหยัดเลือกซื้อในสิ่งที่จำเป็น มีการเก็บออมทำงานทุกวันอย่างมีความสุข จนได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ในระดับตำบลงิม ในพื้นที บ้านใหม่น้ำเงิน หมู่ที่ 12 ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา
ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสานในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา นางศรีนวล นามเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองให้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยการปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเนื้อ การประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกบเลี้ยงหอยขม การเพาะเห็ด การปลูกผักสวนครัว ที่ให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองได้อย่างเหมาะสม
การเลี้ยงกบ
การเลี้ยงหอยขม
การเลี้ยงไก่
การปลูกผัก
ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสานในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา นางศรีนวล นามเมือง สามารถเป็นสถานที่ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงศาสตร์พระราชา โคก หนอง นาโมเดล จากผู้ที่สนใจ หน่วยงานต่างๆจากภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาศึกษา เยี่ยมชมรวมทั้งสนับสนุนวิทยากร งบประมาณ ทั้งบริเวณใกล้เคียงต่างอำเภอและต่างจังหวัด อีกด้วย
ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านใหม่น้ำเงิน หมู่ที่ 12 ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา
การเดินทาง : ใช้เส้นทางถนนทางหลวงหมายเลข 1091 อำเภอปง-อำเภอเชียงคำ ขับตรงมาประมาณ 5กิโลเมตร เจอสามแยกไฟแดงหน้าโรงเรียนบ้านดอนเงิน ตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา ให้ขับตรงไปประมาณ 3 กิโลเมตร สังเกตจากป้ายสีเขียวที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสานในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยา นางศรีนวล นามเมือง จะอยู่ฝั่งซ้ายมือติดกับถนนทางหลวงชนบท
=================================================================
อ้างอิง
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสุโขทัย. (2563, 9 มกราคม). โคก หนอง นาโมเดล คืออะไร. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2564 จาก https://district.cdd.go.th/muang-sukhothai/2020/01/09/โคก-หนอง-นา-โมเดล-คือ-อะไร/
นางศรีนวล นามเมือง บ้านใหม่น้ำเงิน. สัมภาษณ์. 2 กันยายน 2564
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว นายชญาภา ใจมาเครือ
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ นายชญาภา ใจมาเครือ
Post a Comment