TKP HEADLINE

ตลาดโพนางดำ-ตลาด 100 ปี ของชาวจีนโพ้นทะเล จังหวัดชัยนาท

ตลาดโพนางดำ-ตลาด 100 ปี ของชาวจีนโพ้นทะเล


ประวัติความเป็นมาของตำบลโพนางดำตกนั้น เดิมตำบลโพนางดำตก เป็นตำบลขนาดใหญ่และเป็นชื่อของตำบลเพียงตำบลเดียว โดยมีตลาดเป็นแหล่งค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ผู้คนส่วนใหญ่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตามตำนานของตลาด เชื่อกันว่าในสมัยก่อนมีผู้ก่อตั้งตลาด (ตลาดเทศบาลตำบลโพนางดำในปัจจุบัน) ชื่อว่า "นางดำ" เป็นหญิงชราเจ้าของตลาดผู้มีนิสัยใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประกอบกับบริเวณท้ายตลาด    มีตันโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายปี นางดำมักจะมาหมั่นดูและรดน้ำ      พรวนดินให้กับต้นโพธิ์ใหญ่นั้นอยู่เสมอ ๆ ต่อมานางดำได้เสียชีวิต ชาวบ้านในระแวกนี้จึงได้เรียกชื่อต้นโพธิ์ต้นดังกล่าวตามชื่อผู้ที่มาดูแล   ต้นโพธิ์ คือ โพนางดำ ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ของนางดำนั่นเอง ส่วนคำว่า "ตก" นั้นใช้แบ่งทิศของตำบลโพนางดำเดิม ซึ่งใช้แนวทิศและแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งเขต คือ โพนางดำตก และโพนางดำออก เทศบาลตำบลโพนางดำตก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก จึงได้เรียกชื่อกันต่อมาว่า "โพนางดำตก" 
ตลาดโพนางดำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ชุมชนบ้านโพนางดำ ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นตลาดของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีบรรพบุรุษเป็นคนจีนโพ้นทะเลเชื้อสายแต้จิ๋ว       ที่อพยพมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ชาวจีนโพ้นทะเลเมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยส่วนหนึ่งเลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนต่างจังหวัด ตลาดโพนางดำ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนอพยพเหล่านั้น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพ มาตั้งรกรากมาและค้าขายอยู่ที่ตลาดโพนางดำมากกว่า 100 ปี


  สินค้าที่มีชื่อเสียง และมีการซื้อขาย ในตลาดโพนางดำ มาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เช่น ขนมหน้างากุยหลี ขนมโบราณ ของดีจังหวัดชัยนาท       ซึ่งหากผ่านหรือแวะมาจังหวัดชัยนาท ต้องไม่พลาด     ที่จะหาซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเพราะเป็นขนมหนึ่งเดียวของจังหวัดชัยนาท ที่มีรสชาติอร่อยและมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร อีกหนึ่งร้านที่มีชื่อเสียงคือ ร้านขายแหนายเฮ้า ที่ชาวประมงทั่วประเทศหาซื้อ เพราะเมื่อใช้แหจากร้านนี้จับปลา    แหจะบานกว้างและหุบเร็วจึงทำให้จับปลาได้มากกว่าแหจากที่อื่น

สถานที่สำคัญหลายแห่งมีประวัติศาสตร์เรื่องราวที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับตลาดโพนางดำ ทั้งที่พบอยู่ในบริเวณตลาดและบริเวณชุมชน โดยรอบที่สามารถนำมาออกแบบและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเรียนรู้วิถีการท่องเที่ยวแบบวิถีชนบทที่เป็นวิถีแบบ Slow Life มีดังนี้

ร้านแหนายเฮ้า



เป็นร้านแหที่มีชื่อเสียงร้านหนึ่งของจังหวัดชัยนาทซึ่งเริ่มขายมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังไม่มีถนน   ตัดผ่านเข้ามาในตลาดโพนางดำ แหที่จำหน่ายในอดีตจะทำจากด้ายผ้าที่ย้อมด้วยยางตะโก เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทนทาน สมัยก่อนบริเวณตลาดโพนางดำจะมีต้นก้ามปูปลูกอยู่หลายต้นปัจจุบัน     ถูกทำลายไปหมดแล้วและก้ามปูในพื้นที่อื่นก็ค่อนข้างหายาก การทำแหในปัจจุบันจึงได้พัฒนามาใช้เอ็นแทนด้ายดังเช่นสมัยก่อน โดยเอ็นจะมี 2 ลักษณะคือ เอ็นสีฟ้าเป็นเอ็นปอร์น และสีเขียวเป็น    เอ็นเกลียว ทั้งนี้ทางร้านสั่งซื้อแหที่เป็นเนื้อเอ็นเปล่า ๆ หลังจากนั้นนำมาติดตะกั่วโดยชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านเป็น “กลุ่มทำ อุปกรณ์ประมงบ้านโพนางดำ” ที่เป็นการนำเอ็นจากร้านแหนายเฮ้ามาทำการรุมหัวรุมท้ายใส่ตะกั่วจนข่ายพร้อม  ใช้งาน โดยการรุมข่ายนั้นจะเอาเชือกเข้าชุนแล้วนำเชือกอีกเส้นหนึ่งร้อยเข้าไปในข่ายแล้วเริ่มรุมข่ายเมื่อรุมเสร็จแล้วจึงทิ้งหัวและท้ายนำตะกั่วมาใส่ท้ายจะได้ข่ายพร้อมใช้งาน แหที่จำหน่ายโดยร้านขายแหนายเฮ้า  ในตลาดโพนางดำ มีจุดเด่นที่แตกต่างจากแหที่จำหน่ายในพื้นที่อื่นคือเมื่อทอดแหลงไป   ในน้ำแหจะบานออกทำให้ปลาติดแหดีซึ่งเป็นเทคนิควิธีการเฉพาะในการติดตะกั่ว และการพัฒนา    ในการทำแหของชาวชุมชนตลาดโพนางดำมาจากการบอกต่อของลูกค้าถึงความต้องการของคุณสมบัติของแหที่ต้องการนำไปใช้ ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจชมสาธิตการทอดแหและทดลองทอดแหด้วยตนเองซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้โดยทั่วไป

ตลาดเช้าโพนางดำ


หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดสายหยุด” เป็นชื่อที่ได้รับการเรียกขานจากชาวบ้านที่มาจับจ่ายใช้สอยภายในตลาดเนื่องจากเป็นตลาดเช้าที่เปิดขายสินค้าประมาณตี 4 และประมาณ 8 โมงเช้าแม่ค้า   จะเริ่มเก็บของจึงเป็นที่มาของชื่อ “ตลาดสายหยุด” สินค้าที่ขายเป็นผักสดที่ปลูกเองโดยชาวบ้าน  ปลาแม่น้ำที่จับได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา อาหาร และขนมพื้นถิ่นที่มีรสชาติอร่อย เช่น ขนมกุยช่าย ขนมผักกาด และขนมชั้นเป็นต้น

 

ท่าเรือ 100 ปี

ปัจจุบันไม่มีท่าเรือนี้แล้วมีแต่โป๊ะเรือข้ามฝาก อีกทั้งในช่วงเช้าพระสงฆ์วัดไผ่ล้อม ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ข้ามฝากเพื่อมาบิณฑบาตให้ชาวบ้านได้ทำบุญตักบาตร


โพแม่นางดำ ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์

จากหลักฐานในนิราศนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแสดงให้เห็นถึงต้นโพธิ์ใหญ่  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านโพนางดำ สืบอายุแล้วมีอายุหลายร้อยปี อีกทั้งมีศาลที่ชาวบ้านนับถือและกราบไหว้ได้รับการดูแลสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ต้นโพธิ์นี้เป็นที่มาของประวัติศาสตร์ชุมชน โพแม่นางดำที่ถูกเล่าขานสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ศาลปึงเถ่ากง-ม่า



ศาลที่คนในชุมชนโพนางดำให้ความเคารพนับถือและกราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจ แต่เดิมเป็นศาลไม้ที่เจ้าของตลาดรุ่นแรกได้สร้างขึ้นบริเวณทางเข้าด้านท้ายชุมชนหรือด้านหลังตลาด ต่อมาเจ้าของตลาดรุ่นถัดมาได้มีการบูรณะสร้างเป็นศาลปูนทดแทนเนื่องจากศาลไม้เก่าชำรุดทรุดโทรม และเมื่อประมาณปี พ.ศ.2523 ได้มีการย้ายศาลมาตั้งอยู่ข้างประตูทางเข้าด้านหน้าตลาดมาจนถึงปัจจุบัน   ชาวชุมชนและชาวตลาดเรียกศาลนี้ว่า ศาลเหล่าแปะกง

วัดซุ้มกระต่าย


แต่เดิมใช้ชื่อวัดหนองหม้อแกงซึ่งเป็นวัดที่มีเพียงพระพุทธรูปและยังคงเป็นสำนักสงฆ์
 ต่อมาหลวงพ่อเอิบได้ย้ายจากวัดไผ่ล้อมมาจำพรรษา   ที่วัดแห่งนี้ พร้อมทั้งพัฒนาจนมีอุโบสถและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ จนได้จัดตั้งเป็นวัดจนถึงปัจจุบัน ภายในวัดมีสังขารหลวงพ่อเอิบที่ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อยและมีชื่อเสียงในฐานะเป็นพระเกจิอาจารย์ด้านการปลุกเสกวัตถุมงคลหลายชนิด

ตำแหน่งที่ตั้ง : ตลาดโพนางดำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ชุมชนบ้านโพนางดำ ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา  จังหวัดชัยนาท

การเดินทาง :  ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 311 สรรพยา – โพนางดำ – สิงห์บุรี จากอำเภอสรรพยา ระยะทาง 7 กิโลเมตร ตลาดโพนางดำอยู่ทางด้านซ้ายมือ


 กรณีเขียนจากการรวบรวมข้อมูลเอง

ผู้เขียน นายสันต์  สมมัง

https://thi.worldorgs.com/


ดาวน์โหลดเอกสาร



Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand