ประชาชนในตำบลหนามแดง ส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การทำนา การเลี้ยงปลา และ การเลี้ยงกุ้ง เมื่อว่างเว้นจากการทำนาข้าว ก็จะมีเวลาว่าง จึงรวมตัวกันหาทำอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้โดยมีนายเดชา ศรีโกศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลหนามแดง และเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบลหนามแดง ที่ กศน.อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้ประกาศจัดตั้งและมอบให้ผู้ใหญ่เดชา เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งผู้ใหญ่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และเป็นผู้ที่สามารถติดต่อประสานงานกับผู้ที่รับซื้อ จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่หลากหลาย ผู้ใหญ่เดชา ศรีโกศักดิ์ กล่าวว่า การเลี้ยงหนูพุก เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ประชาชน ในหลายพื้นที่ให้ความสนใจ และนิยมหันมาเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจัดจำหน่าย ซึ่งหนูพุก เลี้ยงง่าย โตไว ไม่มีโรค เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกลุ่มกับผู้ใหญ่ ทำให้มีอาชีพ มีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ใหญ่จะรับซื้อเพื่อนำไปขายให้กับตลาดที่รับซื้อ ทำให้ผู้เลี้ยงหนูพุกไม่ต้องกังวลว่าเลี้ยงแล้วจะขายไม่ได้
การเตรียมสถานที่ การทำบ่อเลี้ยงหนูพุก ควรเลือกทำในที่ร่มหรือในโรงเรือนที่มีหลังคาสำหรับบังแดด โดยจะใช้วงบ่อปูนซีเมนต์เป็นบ่อเลี้ยงเพราะมีความคงทน แน่นหนา ดูแลทำความสะอาด และหาซื้อได้ง่ายกว่าวัสดุประเภทอื่น โดยเจาะรูด้านข้างวงบ่อปูนซีเมนต์ให้มีขนาด 5 นิ้ว จำนวน 2 วงบ่อ และนำมาวางติดกันโดยใช้ท่อพีวีซีเชื่อมต่อกันระหว่างบ่อสำหรับการเลี้ยงหนูพุก 1 คู่ ต่อบ่อเลี้ยงหนูพุก จำนวน 1 ชุด
การรองก้นบ่อจะใช้แกลบ หรือฟางข้าววางไว้บนพื้นบ่อนำอิฐบล็อก 2 ก้อน มาวางที่ก้นบ่อให้ชิด
ผนังบ่อและใช้อิฐบล็อกอีก 1 ก้อน มาวางซ้อนปิดไว้ด้านบน สำหรับใช้เป็นที่อยู่
การเลี้ยงหนูพุกและการให้อาหาร กล้วย มะม่วง เป็นอาหารที่หนูพุกชอบโดยใส่ อาหารทุก 1 วัน ต่อ 1 ครั้ง และคอยสังเกตว่าหนูพุกมีการนำเอาเศษวัสดุต่าง ๆ ในบ่อมาปิดทางเชื่อมระหว่างวงบ่อหรือไม่ หากมีการนำเอาเศษวัสดุต่าง ๆ ในบ่อ มาปิดทางเชื่อมระหว่างบ่อแสดงว่าหนูพุกเริ่มตั้งท้องและมีลูกไม่ค่อยกินอาหารเพราะอยู่ในช่วงให้ลูกกินนม
เมื่อลูกหนูอายุครบ 2 เดือน ให้แยกลูกหนูพุกออกมาเลี้ยงในบ่อใหม่หรือจำหน่ายให้ไปเป็นพ่อพันธุ์
แม่พันธุ์ ก็ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าและตลาด โดยมี กศน.ตำบลหนามแดง ให้คำแนะนำ
เขียนหลักสูตรสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดหาตลาดให้
การขายและการส่งออก
ลูกหนูพุกที่มีอายุประมาณ 2 เดือน สามารถขายได้ ราคาตัวละประมาณ 50 บาท หนูพุกอายุประมาณ 3 เดือน น้ำหนักตัวประมาณ 8 - 10 ขีด สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท หนูพุกที่มีการคัดแยกเพศ สำหรับเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ โดยมีอายุประมาณ 75 วัน จะขายได้ราคาคู่ละประมาณ 300 -500บาทขึ้นอยู่กับขนาดความสมบูรณ์ของตัวหนู และความต้องการของตลาดในการเลี้ยงหนูพุก ผู้ใหญ่เดชาได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนเลี้ยงหนูพุกและรับซื้อหนูพุกจากประชาชนในชุมชนตลอดและจัดหาตลาดในการส่งออกให้ด้วยการส่งออก การขายหนูพุกของผู้ใหญ่เดชา จะมีการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีการแปรรูปหนูพุกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หนูพุกย่างน้ำตก หนูพุกแดดเดียว หนูพุกอบสมุนไพร เป็นต้น ผู้ใหญ่เดชา กล่าวว่าควรมีการจัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ในการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยง จนถึงการจัดจำหน่ายเพื่อเปรียบเทียบผลกำไร ขาดทุนในการเลี้ยงแต่ละรอบด้วย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดศึกษาดูงาน
นายเดชา ศรีโกศักดิ์ บ้านเลขที่ 72/5 หมู่ที่ 1 ตำบลหนามแดง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 089-8066104
ข้อมูลเนื้อหา โดย นายเดชา ศรีโกศักดิ์
เรียบเรียงเนื้อหาโดย นางสาววัชราภรณ์ วิจิตรวงษ์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดยนางสาววัชราภรณ์ วิจิตรวงษ์
ข้อมูลTKP อ้างอิง https://424chachoengsao.blogspot.com/2021/08/blog-post_30.html
Post a Comment