ช่วงต้นปี 2563 ในเวลานั้นเกิดวิกฤตการณ์อุบัติโรคโควิด 19 ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย เป็นอีกช่วงเวลาที่ได้มาเยือนจังหวัดเชียงรายโดยตั้งใจมาสักการะและทำบุญวัดต่างๆที่จังหวัดเชียงรายโดยเฉพาะ เป้าหมายจะเป็นวัดต่างๆ ระหว่างทาง อาทิ วัดห้วยทรายขาว(พะเยา) วัดร่องขุ่น วัดพระธาตุผาเงา วัดห้วยปลากั้ง วัดพระธาตุดอยตุง และอีกวัดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ วัดร่องเสือเต้น ถ้าจะกล่าวถึงวัดหรือพุทธสถานที่งดงามในจังหวัดเชียงราย ใครๆคงนึกถึงวัดร่องขุ่น และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2554) แต่ช่วงระยะเวลาสี่ห้าปีที่ผ่านมา ได้เกิดสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ที่โดดเด่นสะดุดตาส่งผลให้เกิดคำเล่าลือไปทั่ว จนเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ผู้คนที่มาจังหวัดเชียงรายต้องแวะเวียนมาชื่นชม นั่นก็คือ วัดร่องเสือเต้น
วัดร่องเสือเต้น ตั้งอยู่หมู่บ้านร่องเสือเต้น ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย โดยตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำกก ฝั่งด้านซ้ายทางทิศตะวันออกของเทศบาลนครเมืองเชียงราย แต่เดิมเคยเป็นวัดร้างที่ไม่ทราบประวัติความเป็นมา โดยจะพบเห็นเศษซากอิฐโบราณสถานเป็นจำนวนมาก จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ในสมัยนั้นยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากเหมือนในปัจจุบันนี้ สัตว์ป่ายังคงชุกชุม โดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านที่ผ่านไป ผ่านมา มักเห็นเสือกระโดดข้ามร่องลำห้วยไปมา จึงเรียกบริเวณนี้ต่อๆกันมาว่า “ร่องเสือเต้น” และเรียกหมู่บ้านบริเวณนี้ว่า “บ้านร่องเสือเต้น” อีกด้วย กล่าวกันว่า วัดร่องเสือเต้นถูกบูรณะสร้างขึ้นเนื่องจากชาวบ้านร่องเสือเต้นไม่มีสถานที่ทำบุญของหมู่บ้าน เวลาทำบุญในวันสำคัญต้องไปทำบุญที่วัดอื่นซึ่งห่างไกลจากหมู่บ้าน ทำให้คนในหมู่บ้านต่างกระจัดกระจายกันไปทำบุญ ต่อมาชาวบ้านจึงได้ร่วมกันบูรณะวัดร้างแห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านร่องเสือเต้น และใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ และให้ชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดร่องเสือเต้น”ความโดดเด่นของวันร่องเสือเต้นที่เห็นได้ชัดคือ พระวิหารที่สร้างสรรค์และออกแบบขึ้นด้วยจากฝีมือของ นายพุทธา กาบแก้ว หรือ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ผู้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตลอดระยะเวลาในการเป็นลูกศิษย์ สล่านกได้เป็นช่างลูกมือช่วยสร้างวัดร่องขุ่น จนได้ซึมซับศิลปะแนวพุทธศิลป์ เมื่อมีโอกาสได้มาสร้างวิหารวัดแห่งนี้ จึงได้นำวิชาที่ร่ำเรียนมา สรรค์สร้างให้เกิดประโยชน์ จนกลายเป็นวัดโดดเด่นในเรื่องสีสันและความสวยงาม
การสร้างวิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม 2548 โดยมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 48 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 22 มกราคม 2559 ร่วมใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จถึง 11 ปี
เมื่อเข้าไปยังวัดร่องเสือเต้น ก็ต้องตื่นตาตื่นใจไปความสวยงามของวัด ที่มีความแตกต่างจากรูปแบบการสร้างวัดทั่วๆ ไปเริ่มตั้งแต่ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูวัดสุดอลังการ ที่สร้างเป็นพญานาคท้าวมุจลินทร์ และปู่ศรีสุทโธ
ถัดเข้าเป็นวงเวียน ที่จัดสร้างเป็นพระอุปคุต พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะเข้าไปยังวิหารวัด ที่มีความสวยงามอลังการณ์ด้วยงานประติมากรรมพุทธศิลป์ร่วมสมัย
ภายนอกของพระวิหารออกแบบด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ โทนสีที่ใช้เป็นโทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับวิหาร โดยสีน้ำเงินฟ้าของตัววิหารนั้นแสดงถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่ขจรขจายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นความจริงตามหลักเหตุและผล เปรียบเสมือนดังท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์
ด้านหน้าพระวิหาร ตรงบันใดทั้งสองข้างจะมีพญานาคตัวใหญ่ 2 ตัว ที่ส่วนปากแสดงลักษณะของเขี้ยว และฟัน ที่มีความโค้งงอ สวยงาม แหลมคม ดูน่าเกรงขาม แต่ก็คงความพลิ้วไหว อ่อนช้อย วิจิตรงามตาในศิลปะแบบล้านนา ขับส่งให้หน้าพระวิหารมีความอลังการ์มากขึ้น การสร้าง สล่านก ได้รับอิทธิพลเชิงความคิดมาจากแนวศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผู้สร้างบ้านดำ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ในปี พ.ศ. 2544) นำมาประยุกต์
ส่วนภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระประธานสีขาวมุก ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.5 เมตร ใต้องค์พระประธานนี้มีพระรอดลำพูน จำนวน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ บริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวมทั้งยังได้รับพระราชทานนาม “พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ” หมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลเจ้าในความเป็นราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก”
ฝาผนังวิหารล้อมรอบด้วยจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติต่างๆ ลายเส้นของตัวภาพนั้นจะมีความอ่อนช้อยสวยงาม
ด้านหลังของพระวิหารยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติสีขาวขนาดใหญ่ สูงเทียบเท่ากับวิหารตัดกับสีน้ำเงินฟ้าสลับทองทำให้ดูสวยงามยิ่ง
ถัดไปจะเห็น "พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีห้าพระองค์" มีความสูง 20 เมตร โดยยอดขององค์พระธาตุได้บรรจุพระบรมสาริกธาตุ จากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสงฆปรินายก เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความสง่างดงาม และเป็นจุดอีกจุดสำคัญที่ต้องมาสักการะพระธาตุแห่งนี้
และที่นี่คืออีกวัดหนึ่งที่งดงามด้วยพุทธศิลปร่วมสมัยที่มีความสวยงาม โดดเด่นในแบบเฉพาะตัว เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นที่ภาคภูมิใจของชุมชน ชุมชนได้ช่วยกันพัฒนาและรักษาความสะอาดและยังคงรักษาวิถีชีวิตของชุมชนไว้ และที่นี่เป็นอีกที่ที่คนมาเยือนจะไม่พลาดที่จะแวะมา เมื่อมาจังหวัดเชียงราย
ตำแหน่งที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย 306 หมู่ 2 ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย
การเดินทาง : ใช้เส้นทางถนนสายแม่จัน-แม่สาย ขับผ่านอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายฯ ข้ามสะพานแม่น้ำกก เจอสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปถนนสายแม่ยาวประมาณ 250 เมตร ก็จะพบอีกทางแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 50 เมตร ก่อนเข้าทางแยกจะมีป้ายบอกทางเข้าวัด
Post a Comment