นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะที่ปรึกษา รวมถึงคณะทำงานและวิทยากรของโครงการทดลอง “การจัดการความรู้ชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (เมืองน่านโมเดล)” ที่สำนักงาน กศน.จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2561 โครงการนี้มุ่งเน้นที่จะสร้างข้อมูลความรู้ชุมชนที่มีความถูกต้อง เที่ยงตรง แม่นยำ สร้างสรรเส้นเรื่องราวโดย คนในพื้นที่ คนในชุมชนเอง นำไปสู่กลไกการจัดฐานข้อมูลขององค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต(ในรูปของการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาต่อเนื่อง) อีกทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลในอนาคตอีกด้วย
รูปแบบที่ดำเนินการได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชน (Thailand Knowledge Portal) โดยยังคงใช้เทคโนโลยีและ Web Application ของ G-Suite for Education (ปัจจุบันคือGoogle Workspace for Education Fundamentals) เช่นเดิม และในวันที่ 2 ถึง 5 เมษายน 2561 จะเป็นการอบรมเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชน (Thailand Knowledge Portal) ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. ทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ อีกครั้งแบบเต็มรูปแบบ โดยยังคงหลักการของการสร้างองค์ความรู้โดยคนของ กศน.เช่นเดิม และด้วยมวลประสบการณ์ความรู้ของกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 20 แห่ง จะนำไปสู่ฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชุมชนที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่ง สนองต่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายด้วย Mobile Device
ปฐมบทของการดำเนินการ
ท่ามกลางกระแสของข้อมูลหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร เอกสารวิชาการ เสียง ภาพถ่าย วิดีทัศน์ จดหมาย ได้ผนวกรวมไปกับโลกของดิจิทัล ที่ทุกวันนี้กระแสของข้อมูล ข่าวสาร ต่างหลั่งไหลหมุนวนอยู่บนโลกใบนี้มากขึ้นตลอดเวลา แต่ทราบหรือไม่ว่าบนเส้นทางของการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ของโลกดิจิตัล ผู้ใช้กำลังประสบปัญหา หลากหลายด้านอย่างไม่รู้ตัว จากตัวเลขด้านบน พบว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละวันของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีผู้ใช้เส้นทางท่องเน็ตแต่ละวันมากกว่า 3,800 ล้านคน ติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ มากกว่า 180,000 ล้านฉบับและหากนับเอา Search Engine ของ Google เป็นหลัก ก็มีผู้เข้าใช้งานเพื่อเข้าถึงข้อมูลมากกว่า 4,300 ล้านคนต่อวันเช่นกัน
จากกระแสการขยายตัวของข้อมูลดังกล่าว ผู้ใช้งานทั่วโลกต่างประสบปัญหากับข้อมูลซ้ำซ้อน ข้อมูลเท็จ ข้อมูลลวง ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือข้อมูลไม่ครบ ส่งผลให้การอ้างอิง การค้นหาข้อมูล หรือข่าวสาร ผ่านกลไกการค้นหาบนเว็บ เริ่มผิดเพี้ยน อันส่งผลต่อการศึกษาในทุกระดับ การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ต้องอาศัยและพึ่งพาแหล่งของข้อมูลในเส้นทางอินเทอร์เน็ตในโลกดิจิตัล มากกว่า 3,800 ล้านคน (จากจำนวนประชากรโลก 7,524 ล้านคน : สิงหาคม ปี 2560) รวมถึงผู้คนในประเทศไทย มากกว่า 46 ล้านคน (ที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ต ต้องเสี่ยงต่อปัญหา)
มูลเหตุของการจัดการความรู้ชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (เมืองน่านโมเดล) มาจากเหตุผลสำคัญต่างๆ ดังนี้
นับตั้งแต่ http://info.cern.ch เปิดตัวครั้งแรก เมื่อ 6 สิงหาคม 2534 โดย เซอร์ทิโมที จอห์น เบอร์เนิร์ส-ลี (Sir Timothy John Berners-Lee) หรือที่รู้จักในนาม เซอร์ทิม ผู้คิดและพัฒนาระบบ เวิลด์ไวด์เว็บเป็นคนแรกของโลก
การสร้างข้อมูลเว็บในระยะแรก ต้องใช้บุคคลที่มีความสามารถ ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง กระทำโดยหน่วยงานของรัฐ หรือสถานศึกษาและหน่วยงานองค์กรขนาดใหญ่ ข้อมูลในเว็บจึงมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง
แต่ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ในช่วงที่ผ่านมา ผนวกรวมกับเทคโนโลยีของ Social media เกื้อหนุนให้การสร้างหน้าเว็บ รวมถึงเว็บไซต์ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ทำให้ให้อัตราการเติบโตของเว็บไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเว็บไซต์ บล็อก หรือประเภท Store online ผ่าน Social media มีสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดหน้าเว็บที่มีข้อมูลซ้ำซ้อน ที่เกิดจากการ copy กัน ซึ่งหน้าเว็บที่เกิดจากการ copy ดังกล่าว มีทั้งข้อมูลที่ผิด และถูก ปัญหาสำคัญและกำลังจะกลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ก็คือ เว็บเชิงธุรกิจที่บริการข้อมูลหลากหลายประเภทที่พบว่าเป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลทั้งจริงและปลอม
ปรากฏการณ์ของข้อมูลซ้ำซ้อน ข้อมูลผิด ข้อมูลหลอกลวงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เซอร์ทิโมที จอห์น เบอร์เนิร์ส-ลี ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ผ่านองค์กรทั้งภาครัฐและธุรกิจ เนื่องในวาระครบรอบ 28 ปีของ www........ เขาเรียกร้องว่า "สื่อสังคมออนไลน์และเสิร์ชเอ็นจิ้น ต้องสนับสนุนความพยายามต่อสู้(ข้อมูล)ข่าวลวง-ข่าวปลอมต่างๆ ด้วย"
สืบเนื่องจากปัญหาในข้อแรก จากการที่การสร้างเว็บเป็นเรื่องง่าย การสร้างข้อมูลในรูปของการโพสต์ การเก็บความทรงจำ การแนะนำแหล่งท่องเที่ยว การแนะนำการเดินทาง การแนะนำบุคคลสำคัญ หรือแหล่งข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรม รวมถึงประเพณี ซึ่งส่วนมากทำ หรือเขียนบทความโดยผู้มาเยือน ส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาในลำดับที่สอง
ปัจจุบันพบว่า เอกสารวิชาการ รายงานทางการศึกษาทั้งของผู้เรียนในสถานศึกษา ทั้งเอกสารวิชาการของหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งในส่วน Reference แต่เดิมจะนำมาจากเอกสาร หนังสือ เป็นหลัก แต่ปัจจุบันพบว่ามีการอ้างอิงจากเว็บไซต์ บล็อก หรือแหล่งข้อมูลออนไลน์อื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง และในอนาคตการอ้างอิงข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตจะมีมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะพบข้อมูลหลอกลวงในปัจจัยข้อที่หนึ่งมาแล้ว ปัญหาที่สำคัญที่กำลังเป็นปัญหา เพิ่มมากขึ้น ก็คือ ข้อมูลในแต่ละหน้าเอกสารเว็บ มีไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารเว็บที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะในหน้าเว็บเอกสารส่วนบุคคล แต่กลับพบว่าหน้าเว็บที่ขาดความสมบูรณ์ของเนื้อหา สาระสำคัญ ปรากฏในหน้าเอกสารเว็บของหน่วยงาน องค์กรขนาดใหญ่ ทั้งของทางราชการและเอกชน อีกด้วย
ตัวอย่างด้านบน ขาดข้อมูลสถานศึกษา ในสังกัดของสำนักงาน กศน.
ปัจจุบัน มี Web application สำหรับจัดการศึกษาออนไลน์มีมากมาย หลายเว็บไซต์พัฒนามาจากเว็บ e-learning แบบเดิมๆ และมีใช้เฉพาะในสถานศึกษาและวงการธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เมื่อกระแสสังคมโลกเปลี่ยนไป ห้องเรียนแบบชั้นเรียนจริงก็กำลังถูกแทนที่ด้วยห้องเรียนเสมือนจริงบนโลกดิจิตอล คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วย Mobile Device
การศึกษาในยุคนี้ จึงเป็นการศึกษาแห่งการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เป็นการสร้างความรู้ร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน ระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ดังนั้นการสร้างความรู้ใหม่ต้องพึ่งพาความรู้เดิม ทฤษฎีเก่า ที่มีอยู่มากมาย ผ่านกลไกทางเทคโนโลยีเครือข่าย ผ่านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ ผนวกรวมความคิดสร้างสรร บนโปรแกรมหรือ Application ที่หลากหลาย
เป็นที่ทราบกันดีว่า Smartphone ได้กลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญของมนุษย์ในการติดต่อสื่อสาร ในการเรียนรู้ แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน พบว่ายังมีเว็บอีกมากมายที่มีการแสดงผลบน Smartphone เสมือนจอคอมพิวเตอร์ การดูข้อมูลต้อง Zoom หรือ Slide พื้นที่หน้าของเอกสารเว็บเพื่อดูข้อมูล ดูผู้ใช้ต้องทำการเลื่อนไปในทุกมุม หรือทุกทิศทาง
วันนี้ Mobile ได้กลายเป็นปัจจัยหลักของสังคมยุคปัจจุบัน แต่การเข้าถึงเว็บเพื่อดูข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ยังประสบปัญหา ข้อความจะมีขนาดเล็กมาก ซึ่งการออกแบบเว็บไซต์เดิม ออกแบบบนฐานหน้าจอขนาดใหญ่ รองรับการแสดงผล บนอุปกรณ์ จอคอมพิวเตอร์ ขนาด 11-14 นิ้ว หรือใหญ่กว่านั้น ส่งผลให้เมื่อแสดงผลบนหน้าจอ Mobile (4-6 นิ้ว) ดังนั้นการสร้างเว็บไซต์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์เพื่อสนองต่อภารกิจแบบดังเดิม หรือจะเป็นในลักษณะผ่าน Social media ต่างๆ ล้วนออกแบบและพัฒนาให้สามารถปรับรูปแบบการแสดงผลหน้าตาตัวเองได้ตามขนาดของหน้าจอที่เปิดเข้าดูได้ทันที อาทิ เมนู ลำดับของเนื้อหา เป็นต้น เมนูปรับเปลี่ยนจาก Horizontal menu เป็น Drop-down (Hamburger) menus โดยอัตโนมัติ ที่เรียกว่า Responsive website ส่วนเว็บไซต์รุ่นเก่าที่มีรากฐานการพัฒนามาอย่างยาวนาน การจะคิดสร้างสรรใหม่อาจจะสร้างความยุ่งยากและต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำการพัฒนาโค๊ดคำสั่งเพื่อในเว็บไซต์เดิมสามารถแสดงผลบนอุปกรณ์เคลื่อนที่โดยเฉพาะ Smartphone ได้ หรืออาจเรียกเว็บแบบนี้ว่า Mobile Friendly
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการกำหนดมาตรฐานการแสดงผลบนอุปกรณ์ Mobile Device ขึ้นใหม่ เรียกว่า Responsive website หรือ Mobile Friendly โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1.ความกว้างปรับได้ตามขนาดจออุปกรณ์
2.เห็นรูป-ข้อความชัดเจนโดยไม่ต้อง ZOOM
3.ข้อมูลครบถ้วนในทุกอุปกรณ์
4.ผ่านการรับรองระบบโดย Google
ซึ่งเว็บไซต์ในปัจจุบันอีกมากมาย ยังไม่สามารถแสดงผลได้สมบูรณ์บน Smartphone โดยสามารถทดสอบการแสดงผลเว็บไซต์ บน Smartphone ได้ที่
http://www.google.com/webmasters/tools/mobile-friendly
ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างประสบปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน ข้อมูลเท็จ ข้อมูลลวง ข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือข้อมูลไม่ครบ ส่งผลให้การอ้างอิง การค้นหาข้อมูล หรือข่าวสาร ผ่านกลไกการค้นหาบนเว็บ เริ่มผิดเพี้ยน อันส่งผลต่อการศึกษาในทุกระดับ การดำรงชีวิต ที่ต้องพึ่งพาข้อมูลในยุคนี้ ผู้คนในประเทศไทย มากกว่า 46 ล้านคน (ที่เข้าใช้อินเทอร์เน็ต)ต้องเสี่ยงต่อปัญหา
ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา Search engine ถูกพัฒนาให้มีความชาญฉลาด สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มากมายได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องเสียเวลาในการเลือกข้อมูล จึงเกิดการพัฒนา Web Directory เพื่อรวมกลุ่ม แยกประเภทของข้อมูล แต่ Web Directory ดังกล่าวเมื่อเติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสของธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง อีกทั้งพลังของ Social network สามารถเข้าถึงผู้คนได้โดยตรงอย่างรวดเร็ว การพึ่งพา Web Directory น้อยลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ให้เกิดการล่มสลาย
แม้ว่า Web Directory จะแยกหมวดหมู่ไว้ แต่ก็ยังเป็นหมวดที่ใหญ่ ทำให้การเข้าถึงผ่านลำดับหลายชั้น ซึ่งประเทศไทยเคยมี Web Directory เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่แห่ง
คณะทำงาน ICT ภาค สถาบันการศึกษาทางไกล กศน.เคยดำเนินการ สร้าง Web Directory เพื่อการศึกษา มาแล้ว 2 ครั้ง ในชื่อของ (1) www.thailearning.info และ (2) www.gnfe.net
ในยุคต้น ดำเนินการในลักษณะ Static Websites ที่เน้นกระบวนการรวมข้อมูลนำมาแสดงผลบนหน้าเอกสาร html ซึ่งต่อมาเริ่มนำมาปรับเป็น Dynamic Websites ที่นำข้อมูลลงในระบบฐานข้อมูล แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาต่อ ทำให้จุดเริ่มต้นที่เริ่มพัฒนา ต้องหยุดการพัฒนาไป
จากยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ มาสู่สมองกลอัจฉริยะแค่อุ้งมือเดียว รวมถึงเทคโนโลยีเว็บ ที่มีพัฒนาการส่งผ่านข้อมูลก้าวกระโดด จากยุคแรกสู่ web 2.0 มาเป็น web 3.0 ที่ส่งผ่านข้อมูลมัลติมีเดียที่รวดเร็ว การสื่อสารสองทางทำได้ดี และอีกไม่นานเรากำลังก้าวสู่ ยุค 4.0 ส่งผลให้การเชื่อมโยงเครือข่ายมีความรวดเร็ว มีความแข็งแกร่ง เกิดเทคโนโลยีเว็บหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะ Social media ที่ผลักดันในเครือข่ายมีพัฒนาการกว้างไกล ไร้ขอบเขต
G Suite for Education สามารถสร้างสรรกลไก ที่จะสนับสนุนการดำเนินการจัดการศึกษาด้วย Account เพียง Account เดียว
ส่งผลให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง บริการหรือ App ต่างๆของ Google ได้ Application ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงและสนับสนุนในการสร้างสรรงานร่วมกันได้อย่างไร้ขอบเขต
จากความร่วมมือของ Google ได้มอบ Account จำนวน 3 ล้าน ให้กับสำนักงาน กศน. เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการศึกษา โดย สทก. รับมอบหมายเป็นผู้บริหารจัดการ และพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับสถานศึกษาเครือข่าย Account ทั้ง 3 ล้าน เป็นชุด G Suite for Education ภายใต้โดเมน @dei.ac.th ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงทุกผลิตภัณฑ์สำหรับสนับสนุนงานการศึกษาที่เป็นของ Google ภายใน Account เดียว
มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ
(1) เปลี่ยนจากผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม
(2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
(3) เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การขับเคลื่อน กศน. สู่ “Smart ONIE” ในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพของประชาชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และการพัฒนากำลังคนให้เป็น “Smart Digital Persons (SDPs)” ที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ
การดำเนินการนี้ ได้กำหนดโครงสร้างเพื่อการสร้างเรื่องราวในกลุ่มเนื้อหาต่างๆ เบื้องต้น ประกอบด้วย
1. แหล่งเรียนรู้
2. ภูมิปัญญา (บุคคล/คณะบุคคล)
3. แหล่งท่องเที่ยว
4. นิทรรศการ
5. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
7. วิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ
8. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
9. วิทยาศาสตร์เพื่อชุมชน
10. ดาราศาสตร์
11. ฐานการเรียนรู้
12. วิทยาศาสตร์พื้นฐาน
ผลจากการศึกษาและดำเนินการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาออนไลน์ มาโดยตลอด พบว่า Application ของ Google มีความหลากหลาย ยืดหยุ่นต่อการพัฒนาการนำข้อมูลจากพื้นที่นำมาสร้างเป็นหน้าเอกสารเว็บ อาทิ Blogger และ New Google Sites แต่เนื่องจากการทำหน้าเอกสารข้อมูล ไม่ต้องการองค์ประกอบหรือเทคนิคที่ซับซ้อนที่ Blogger มีให้ใช้งาน อีกทั้ง New Google Sites เป็น Application ที่ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญการนำไปสู่กลไกการสร้าง การบริหารหน้าข้อมูลในอนาคต ทำได้ง่าย จึงเลือกใช้ New Google Sites มาเป็น Based ในการพัฒนา จึงดำเนินวางแผนการดำเนินการอบรม และพัฒนาบุคลกรของสำนักงาน กศน. ดังนี้
ครั้งที่ 1 ดำเนินการอบรมให้ สำนักงาน กศน.จังหวัดน่าน ในช่วงวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2561 ด้วย G-Suite for Education (ภายใต้โดเมนเนม @dei.ac.th ของสถาบันการศึกษาทางไกล) โดยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ TKP ต่อในวันที่
ครั้งที่ 2 ดำเนินการอบรมให้กับ กลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (20 หน่วยงาน) ระหว่างวันที่ 2 – 5 เมษายน 2561 ด้วย G-Suite for Education (ภายใต้โดเมนเนม @dei.ac.th ของสถาบันการศึกษาทางไกล) โดยทุกศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ได้ Sites สำหรับใช้ในการจัดสร้างองค์ความรู้ออนไลน์ จำนวน 20 Sites พร้อมดำเนินการเข้าระบบ TKP เผยแพร่แล้วที่ http://100sce.blogspot.com
แม้ว่า การดำเนินการจัดความรู้ ทั้งสองครั้งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
1. ได้ Sites ข้อมูลความรู้ในระดับพื้นที่(จังหวัดน่าน) มากกว่า 50 Sites มีเรื่องราวเบื้องต้น 5 กลุ่มเนื้อหา เข้าสู่ ระบบ มากกว่า 70 เรื่อง
2. ได้ Sites ข้อมูลความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 20 Sites มีเรื่องราวเบื้องต้น ใน 12 กลุ่มเนื้อหา เข้าสู่ระบบมากกว่า 200 เรื่อง
ผลจากการพัฒนา ข้อมูล ต้องนำมาตรวจสอบรายละเอียดตามที่ได้ออกแบบและกำหนดไว้ (ถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญในการรับรองมาตรฐานของข้อมูลขั้นต้น) นอกจากนี้ คณะทำงานต้องนำกลุ่มตัวอย่างนี้ มาจำลอง เพื่อออกแบบวิธีการบริหารเพื่อการเข้าถึงระบบในการจัดเก็บ การจัดกลุ่ม(หมวดหมู่) ทั้งในระดับหน่วยงาน หรือระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพื่อสะดวกในการจัดเก็บข้อมูล การเผยแพร่ และการนำไปใช้งาน
เมื่อดำเนินการออกแบบเครื่องมือ หรือระบบสำหรับการบริหาร การจัดเก็บ การจัดกลุ่ม(หมวดหมู่) ทั้งในหน่วยงานเฉพาะ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เรียบร้อยแล้ว ต้องดำเนินการนำข้อมูลจากพื้นที่นำเข้าสู่ระบบ ซึ่งเงื่อนไขตรงส่วนนี้ อาจให้สิทธิ์ดำเนินการจากระดับจังหวัด ระดับภาค หรือหน่วยงานเฉพาะเพื่อสะดวกในตรวสอบ กลั่นกรอง รับรอง ข้อมูล ทั้งนี้ระบบบริหารข้อมูลดังกล่าวนี้ต้องออกแบบบนฐานข้อมูลที่รองรับการบริหารจัดการและการแสดงผลในทุกอุปกรณ์ทั้งระบบเว็บ และ Smartphone Application เพื่อสะดวกในการเข้าถึงและการนำไปใช้งาน
จากกระบวนการ ทั้ง 4 ขั้นตอน นำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายข้อมูล และสาระการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ ข้อมูลตามสภาพความเป็นจริง ที่จัดเก็บข้อมูลโดยคน กศน. ในชุมชน ในพื้นที่ และหน่วยงานสถานศึกษา(พิเศษ) ส่งผ่านบนหน้าเว็บของ Google Sites ของแต่ละอำเภอ รวมมาเป็น จังหวัด เข้าสู่ TKP Network ด้วยเทคโนโลยีบล็อก ของ Google ผลสำเร็จจาก เมืองน่านโมเดล ได้นับเสนอต่อสำนักงาน กศน. ผ่าน รองเลขาธิการ สำนักงาน กศน. (นางสาววิเลขา ลีสุวรรณ์) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ที่ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(เอกมัย)
และปฏิบัติการ TKP เต็มรูปแบบได้เริ่มต้นขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการสร้าง วิทยาศาสตร์เพื่อชุมชน
อนาคตในอีกไม่นาน โลกของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ การันตีโดยหน่วยงาน กศน. จะเกิดขึ้น และสิ่งนี้จะเป็นอีกมิติใหม่ของแหล่งข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ ที่มีคุณค่าต่อสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สุวัฒน์ ธรรมสุนทร
7 เมษายน 2561
Post a Comment